แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ถือว่าเป็นคำสั่งอายัดของศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในหมายบังคับคดี ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสอง (เดิม) การที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 คำสั่งอายัดย่อมมีผลบังคับทันทีในวันดังกล่าว แม้จำเลยจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของผู้คัดค้านแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าว ผู้คัดค้านยังไม่ได้หักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท ก. ตามที่จำเลยได้ทำหนังสือให้ความยินยอมไว้ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเต็มจำนวนให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งอายัดดังกล่าว
สำหรับประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 และ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 นั้น สิทธิของผู้คัดค้านในฐานะนายจ้างของจำเลยในการหักเงินค่าจ้างหรือเงินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ถือเป็นสิทธิอันเกิดจากความยินยอมของจำเลยตามหนังสือให้ความยินยอมที่จำเลยทำไว้กับสหกรณ์ หาใช่สหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิของจำเลยไม่ แม้จะระบุลำดับในการหักเงินชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ไว้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ หนี้ใดจะเป็นหนี้บุริมสิทธิหรือไม่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ที่จำเลยมีต่อสหกรณ์เป็นเพียงหนี้กู้ยืมเงินไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิหักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยส่งให้แก่สหกรณ์ภายหลังจากได้รับแจ้งคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่ (เดิม)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลย
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินตอบแทนกรณีออกจากงานของจำเลยดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ตามคำสั่งอายัดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของโจทก์หรือมีคำสั่งให้สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด เป็นผู้ส่งเงินตอบแทนการออกจากงานของจำเลยที่ได้รับจากผู้คัดค้านให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีแทนผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 โดยให้ส่งเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามจำนวนที่จำเลยยังคงค้างชำระหนี้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งศาล หากไม่ปฏิบัติตามให้เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ถูกอายัดต่อไป
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยเป็นพนักงานของผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องไปยังผู้คัดค้านให้ส่งเงินตอบแทนการออกจากงานของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเต็มจำนวนไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 10 วัน นับแต่วันถึงกำหนดจ่ายเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งข้อขัดข้องในการส่งเงินตามหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างว่า ผู้คัดค้านได้รับหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งจำเลยได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของผู้คัดค้านแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ไม่สามารถอายัดเงินนำส่งได้ จำเลยมีสิทธิได้รับเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนจากผู้คัดค้านทั้งสิ้น 872,115 บาท เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ผู้คัดค้านได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด เนื่องจากจำเลยเป็นสมาชิกและทำสัญญากู้เงินไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว โดยจำเลยทำหนังสือให้ความยินยอมว่าให้ผู้คัดค้านหักเงินได้รายเดือนของจำเลยตามจำนวนงวดการชำระหนี้เพื่อส่งต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว และหากจำเลยประสงค์จะลาออกจากงาน จำเลยจะแจ้งเป็นหนังสือและจัดการชำระหนี้ที่มีต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน หรือเมื่อจำเลยได้ลงชื่อรับเงินเดือน ค่าจ้าง เงินสะสม บำเหน็จ บำนาญ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินอื่นใดในหลักฐานที่ผู้คัดค้านหรือหน่วยงานต้นสังกัดจะจ่าย จำเลยยินยอมให้เจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินดังกล่าวหักเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยส่งชำระหนี้ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านต้องส่งเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 หรือไม่ เห็นว่า หนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ถือว่าเป็นคำสั่งอายัดของศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในหมายบังคับคดี ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 311 วรรคสอง (เดิม) การที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 คำสั่งอายัดย่อมมีผลบังคับทันทีในวันดังกล่าว แม้จำเลยจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของผู้คัดค้านแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าว ผู้คัดค้านยังไม่ได้หักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด ตามที่จำเลยได้ทำหนังสือให้ความยินยอมไว้ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเต็มจำนวนให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งอายัดดังกล่าว ที่ผู้คัดค้านฎีกาอ้างว่า การที่ผู้คัดค้านไม่ส่งเงินตอบแทนการออกจากงานของจำเลยให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากผู้คัดค้านต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 นั้น เห็นว่า ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 ระบุว่า “ห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ
(1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
(2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจตามข้อบังคับของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจหรือเพื่อชำระเงินอันอื่นอันเป็นสวัสดิการที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจจัดให้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
(3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
(4) เป็นเงินประกันความเสียหายหรือชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยรับความยินยอมจากลูกจ้าง
(5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ทั้งนี้ เว้นแต่ ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง” และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 บัญญัติว่า “เมื่อสมาชิกได้ทำความยินยอมเป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์ ให้ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่หักเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกนั้น เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไปให้หน่วยงานนั้นหักเงินดังกล่าวและส่งเงินที่หักไว้นั้นให้แก่สหกรณ์โดยพลัน
การแสดงเจตนายินยอมตามวรรคหนึ่ง มิอาจถอนคืนได้ เว้นแต่สหกรณ์ให้ความยินยอม
การหักเงินตามวรรคหนึ่ง ต้องหักให้สหกรณ์เป็นลำดับแรก ถัดจากหนี้ภาษีอากรและการหักเงินเข้ากองทุนที่สมาชิกต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม” ตามประกาศและพระราชบัญญัติดังกล่าว สิทธิของผู้คัดค้านในฐานะนายจ้างของจำเลยในการหักเงินค่าจ้างหรือเงินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์เป็นสิทธิอันเกิดจากความยินยอมของจำเลยตามหนังสือให้ความยินยอมที่จำเลยทำไว้กับสหกรณ์ หาใช่สหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิของจำเลยไม่ แม้จะระบุลำดับในการหักเงินชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ไว้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ หนี้ใดจะเป็นหนี้บุริมสิทธิหรือไม่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ที่จำเลยมีต่อสหกรณ์เป็นเพียงหนี้กู้ยืมเงินไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิหักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยส่งให้แก่สหกรณ์ภายหลังจากได้รับแจ้งคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 311 วรรคสี่ (เดิม) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ