แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์โดยอาศัยสิทธิในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและโจทก์ได้จ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้แก่ผู้ร้องทั้งเก้าไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อไล่เบี้ยเงินที่ได้จ่ายไปแล้วดังกล่าวคืนจากจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 เมื่อคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าววินิจฉัยและมีคำสั่งว่าในช่วงเวลาพิพาทจำเลยมิใช่ลูกจ้างโจทก์ แต่จำเลยเป็นผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้า ให้โจทก์ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้าในค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดแก่ผู้ร้องทั้งเก้า หากจำเลยไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คำสั่งนั้นย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานตามที่บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิไว้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมเป็นที่สุด จำเลยหามีสิทธิที่จะยกเรื่องการเป็นนายจ้างลูกจ้างกันและผู้รับเหมาช่วงที่ยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานและมีผลผูกพันโจทก์จำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 2 เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้ร้องทั้งเก้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปแล้วคืนจากจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 วรรคสอง ได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงิน 55,325.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 54,431.25 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจากที่ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังและที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า พนักงานตรวจแรงงาน มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ 72/2556 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ว่า โจทก์เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จำเลยมิใช่ลูกจ้างโจทก์ แต่เป็นผู้รับเหมาช่วงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นายวิฑูรย์ นางสาวเนียม นางสาวยุพิน นางนงค์นุช นางสาววันเพ็ญ นายบัวลา นายทวี นายอิ๊ด และนางสมศรี ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 9 ตามลำดับ เป็นลูกจ้างของจำเลย ผู้ร้องทั้งเก้ายังไม่ได้รับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดสำหรับการทำงานระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2556 จากจำเลย จึงมีคำสั่งให้โจทก์ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้าจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2556 แก่ผู้ร้องทั้งเก้า รวมเป็นเงิน 54,431.25 บาท โจทก์กับจำเลยและผู้ร้องทั้งเก้าไม่ได้ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและไม่ได้นำคดีไปสู่ศาล คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2556 โจทก์จ่ายเงินตามคำสั่งดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทั้งเก้าแล้ว จำเลยเคยเป็นลูกจ้างรายวันของโจทก์ เริ่มทำงานกับโจทก์ที่โครงการที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โครงการที่อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา และโครงการที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2556 โจทก์จัดให้มีการทำงานปูกระเบื้องที่บ้านพักพนักงานของโครงการ ซึ่งบริษัทปิ่นทอง จำกัด ผู้รับเหมารายเดิมทิ้งงานไว้ โจทก์จึงตกลงจ้างจำเลยและผู้ร้องทั้งเก้าทำงานดังกล่าวคิดราคาโดยคำนวณตามพื้นที่ แล้วศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่า เดิมจำเลยทำงานเป็นลูกจ้างรายวันของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว แม้ต่อมาโจทก์จะจ้างจำเลยกับพวกให้ทำงานรับเหมาในโรงไฟฟ้าและที่บ้านพักพนักงานของโครงการก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วกลายเป็นผู้รับเหมาช่วงไปได้ เพียงแต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนจากการจ่ายค่าจ้างรายวันมาเป็นการคำนวณตามผลงานหรือตามปริมาณงานที่ทำได้ จำเลยจึงมิใช่นายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้า และมิใช่ผู้รับเหมาช่วงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 แม้โจทก์จ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทั้งเก้าแล้วย่อมไม่มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลยกับผู้ร้องอีกจำนวน 9 คน ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอ้างว่าจำเลยกับผู้ร้องดังกล่าวเป็นลูกจ้างของโจทก์ ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินตามคำร้องแก่จำเลยและผู้ร้องทั้งเก้า ต่อมาพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี มีคำสั่งที่ 72/2556 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ว่าในช่วงเวลาพิพาทจำเลยมิใช่ลูกจ้างโจทก์แต่จำเลยเป็นผู้รับเหมาช่วงงานจากโจทก์และเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้า และให้โจทก์ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วง โดยจำเลยและผู้ร้องทั้งเก้ามิได้นำคดีมาสู่ศาลเพื่อให้ศาลแรงงานเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง จำเลยหาอาจยกเรื่องความเป็นนายจ้างลูกจ้างมาอ้างในคดีนี้ได้ ที่ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากชั้นพนักงานตรวจแรงงานโดยศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยมิใช่ผู้รับเหมาช่วงและมิใช่นายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้า โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์โดยอาศัยสิทธิในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ 72/2556 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 และได้จ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปแล้ว เพื่อไล่เบี้ยเงินที่ได้จ่ายไปแล้วคืนจากจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 เมื่อคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าววินิจฉัยและมีคำสั่งว่าในช่วงเวลาพิพาทจำเลยมิใช่ลูกจ้างโจทก์ แต่จำเลยเป็นผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้า ให้โจทก์ในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับจำเลยในค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดแก่ผู้ร้องทั้งเก้า หากจำเลยไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวคำสั่งนั้นย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานตามที่บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิไว้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จำเลยหามีสิทธิที่จะยกเรื่องการเป็นนายจ้างลูกจ้างกันและผู้รับเหมาช่วงซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานและมีผลผูกพันตามบทบัญญัติดังกล่าวมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 2 เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเงินที่จ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปแล้วคืนจากจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 วรรคสอง ได้ไม่ ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวมาว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ จำเลยมิใช่ผู้รับเหมาช่วงและมิใช่นายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้าจึงไม่ชอบ ส่วนที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เมื่อคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานภาค 2 ฟังมาและที่คู่ความไม่โต้แย้งกันแล้วดังกล่าวข้างต้นเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัย เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าโจทก์ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นได้จ่ายเงินที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปแล้ว จำนวน 54,431.25 บาท โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเงินดังกล่าวคืนจากจำเลย จำเลยต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 วรรคสอง สำหรับดอกเบี้ยในหนี้เงินดังกล่าวแม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยรับผิดในส่วนดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2556 อันเป็นวันที่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่เมื่อหนี้เงินดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลาให้ต้องจ่ายกันเมื่อใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง การนับเวลาผิดนัดจึงต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการทวงถามเมื่อใดเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ไม่อาจถือเอาวันที่ 2 สิงหาคม 2556 เป็นวันผิดนัดตามที่โจทก์ขอได้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทวงถามเมื่อใด ต้องถือว่าโจทก์ได้ทวงถามเมื่อฟ้อง จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 21 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงิน 54,431.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 ตุลาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์