คำสั่งศาลฎีกาที่ 10099/2555

คำสั่งศาลฎีกาที่ 10099/2555

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 130 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผลการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาให้ถือเป็นที่สุดนั้น เป็นบทบัญญัติให้ผลการสรรหาเป็นที่สุดเฉพาะที่เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาในการสรรหาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อผู้ใดเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาในเรื่องความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของวุฒิสภาและองค์ประกอบจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน โอกาสและความทัดเทียมกันทางเพศ สัดส่วนของบุคคลในแต่ละภาคส่วนที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมด้วย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 114 วรรคสอง แต่ไม่รวมถึงการสรรหาที่ไม่สุจริต ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” และวรรคสอง บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิหรือไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ ย่อมได้รับสิทธิหรือเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่กำหนดเวลาการเสียสิทธิตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 นั้น มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “….ให้มีกำหนดเวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้ง…” และวรรคสองยังบัญญัติต่อไปว่า “ในกรณีที่มีการโต้แย้งการเสียสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพร้อมหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งที่ถัดมาแล้ว…” เป็นการย้ำให้เห็นว่ากำหนดเวลาเสียสิทธิตามมาตรา 26 จะสิ้นสุดลงเมื่อได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งถัดมาจริง ๆ เท่านั้นการที่สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยเสนอชื่อผู้คัดค้านเข้าเป็นผู้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 26 (2) มีผลให้การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของผู้คัดค้านเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง คดีมีเหตุที่ต้องสั่งให้เพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของผู้คัดค้าน แต่ตามพฤติการณ์พอเห็นได้ว่าผู้คัดค้านเพียงแต่เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าการเสียสิทธิของผู้คัดค้านสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากในคราวที่จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขต ผู้คัดค้านเข้าใจว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครด้วย และได้มีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วโดยไม่มีการแจ้งกลับไปยังผู้คัดค้านว่าเหตุที่แจ้งไม่ใช่เหตุอันสมควร ทั้งผู้ร้องเองก็กล่าวมาในคำร้องว่าผู้คัดค้านยังไม่ได้สิทธิที่เสียไปกลับคืนมา เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กรณียังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านยินยอมให้สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยไม่สุจริต จึงไม่มีเหตุที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของผู้คัดค้านตามคำร้อง

Share