แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย ซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าจำเลยได้รับหนังสือลาออกจากโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อ ร. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ซึ่งหมายถึงโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงตามที่ยุติจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวน และเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลาออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากจำเลย อันมีความหมายว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ลาออกโดยไม่สมัครใจ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ขอลาออกเพราะถูก ร. ข่มขู่นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ป.พ.พ. มาตรา 386 ไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับแก่สัญญาประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงใช้บังคับแก่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาจ้างแรงงานด้วย การที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการแสดงเจตนาแก่นายจ้าง ลูกจ้างไม่อาจถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญานั้นได้ แต่ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของลูกจ้างด้วย โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แสดงเจตนาถอนการลาออก แต่จำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้โจทก์ส่งใบลามาใหม่ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องโจทก์และจำเลยตกลงให้โจทก์ถอนการลาออกหรือยับยั้งการลาออกของโจทก์ แต่เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบภายในของจำเลยเพื่ออนุมัติการลาออกของโจทก์ หนังสือลาออกจึงยังมีผลบังคับอยู่ และการที่จำเลยยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยให้โจทก์ไว้ใช้ในการทำงานคืนจากโจทก์นั้น ก็เป็นเพราะใกล้วันที่หนังสือลาออกของโจทก์จะมีผลแล้ว จึงมิใช่กรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชย 1,694,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 6,776,000 บาท ชดใช้เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝ่ายนายจ้าง เดือนละ 14,340 บาท เป็นระยะเวลา 40 เดือน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 21 วันต่อปี จำนวน 8,365 บาท ต่อเดือน จำนวน 40 เดือน และรายได้จากเงินรางวัลประจำปีคงที่ ปีละ 1 เดือน จำนวน 143,400 บาท รวม 40 เดือน และให้จำเลยให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิของพนักงานระดับจัดการ พร้อมทั้งส่งเบี้ยประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุในวงเงิน 20 ล้านบาท แก่โจทก์และครอบครัวจนอายุครบ 60 ปี และชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรจนสำเร็จชั้นอุดมศึกษาแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์สละประเด็นที่ขอให้จำเลยให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องค่ารักษาพยาบาลและส่งเบี้ยประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุในวงเงิน 20 ล้านบาท ให้แก่โจทก์และครอบครัวจนอายุครบ 60 ปี รวมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรจนสำเร็จชั้นอุดมศึกษาแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2532 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายผู้จัดการส่วนอาวุโสค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 143,400 บาท และเงินช่วยเหลือเดือนละ 26,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 นายราจีฟ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ว่าโจทก์ประสงค์ขอลาออกและจะมาทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 15 มีนาคม 2558 พร้อมแนบหนังสือลาออกฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ถือว่าโจทก์แสดงเจตนาลาออกและบอกเลิกสัญญาจ้างต่อผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยแล้ว ซึ่งโจทก์ไม่อาจถอนเจตนาได้ แม้ต่อมาโจทก์ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงจำเลยเพื่อขอถอนใบลาออก จำเลยแจ้งว่าใบลาออกที่ยื่นมายังไม่มีผลใช้ได้และให้ส่งใบลาออกมาใหม่ก็เป็นเรื่องการอนุมัติให้ลาออกอันเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสอง หนังสือลาออกของโจทก์ยังมีผลต่อไป ประกอบกับในวันที่ 19 มีนาคม 2558 จำเลยได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากโจทก์อีกโดยโจทก์ยืนยันการลาออกตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป ที่โจทก์ขอลาออกไม่ได้มีสาเหตุมาจากถูกจำเลยกลั่นแกล้ง เลือกปฏิบัติ โยกย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่โจทก์ไม่สมัครใจและไม่ใช่สายวิชาชีพของโจทก์ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่จำเลยยึดเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อไม่ให้โจทก์ทำงานเนื่องจากเป็นธรรมเนียมประเพณีของจำเลยในการตรวจสอบทรัพย์สินที่ลูกจ้างได้ใช้ในกิจการของจำเลยและใกล้พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างในระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนวันสุดท้ายของการทำงาน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่คืนทรัพย์สินของจำเลยรวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แก่จำเลย และได้มีการจัดทำแบบตรวจสอบทรัพย์สิน หนี้สินลูกจ้างที่พ้นสภาพและเอกสารการส่งมอบบริการ IT แล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ขอลาออกเอง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝ่ายนายจ้างค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินรางวัลประจำปีคงที่แก่โจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์พร้อมแนบหนังสือลาออกมีผลเป็นการส่งหนังสือลาออกต่อจำเลยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าจำเลยได้รับหนังสือลาออกจากโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อนายราจีฟกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ซึ่งหมายถึงโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงตามที่ยุติจากคำฟ้องและคำให้การ หาใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวนดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์พร้อมแนบหนังสือลาออก จึงมีผลเป็นการยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ลาออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากจำเลย อันมีความหมายว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจ อุทธรณ์ที่ว่าโจทก์ลาออกโดยไม่สมัครใจ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางให้ฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่โจทก์อุทธรณ์ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์ขอลาออกเพราะถูกนายราจีฟข่มขู่นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเลิกสัญญาซึ่งไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับแก่สัญญาประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงใช้บังคับแก่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยด้วย ซึ่งมาตรา 386 บัญญัติให้ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการแสดงเจตนาแก่นายจ้าง โดยลูกจ้างไม่อาจถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญานั้นได้ แต่ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของลูกจ้างด้วย คดีนี้โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แสดงเจตนาถอนการลาออก แต่จำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้โจทก์ส่งใบลาออกมาใหม่ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องโจทก์และจำเลยตกลงให้โจทก์ถอนการลาออกหรือยับยั้งการลาออกของโจทก์ เป็นแต่เพียงเรื่องที่จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบภายในของจำเลยเพื่ออนุมัติการลาออกของโจทก์ หนังสือลาออกจึงยังมีผลบังคับอยู่ และการที่จำเลยยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยให้โจทก์ไว้ใช้ในการทำงานให้แก่จำเลยคืนจากโจทก์นั้น ก็เป็นเพราะใกล้วันที่หนังสือลาออกของโจทก์จะมีผลแล้ว จึงมิใช่กรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน