คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1421/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับฝ่ายจำเลยไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และโจทก์ไม่ได้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินในวันที่ 11 สิงหาคม 2538 ตามที่ฝ่ายจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับ ฝ่ายจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวไปวางไว้ตามมาตรา 31 โดยพลัน ตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งก็คือวันถัดจากวันครบกำหนดนัด คือ วันที่ 12 สิงหาคม 2538 อันถือได้ว่าเป็นวันวางเงิน ค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคท้าย การคิดดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มตั้งแต่วันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 80176 เลขที่ดิน 9690 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา บางส่วนของที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 351 โดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 60,668,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 52,755,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,605,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 18,025,000 บาท แก่โจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า… ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์ควรจะได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใดและในอัตราอย่างไร โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ควรจะได้รับดอกเบี้ยจากจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลวินิจฉัยถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มแก่โจทก์ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารออมสินประเภทฝากประจำ แต่ไม่เกินร้อยละ 6.5 ต่อปี เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” และมาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนผู้ใดไม่มารับเงินค่าทดแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด… ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่วางเงินค่าทดแทนไว้ตามมาตรา 31 โดยพลัน” ปรากฏว่าโจทก์กับฝ่ายจำเลยไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 ฝ่ายจำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินในวันที่ 31 สิงหาคม 2538 แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามกำหนดนัด ฝ่ายจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวไปวางโดยพลันซึ่งก็คือวันถัดจากวันครบกำหนดนัด คือวันที่ 12 สิงหาคม 2538 อันถือได้ว่าเป็นวันวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคท้าย การคิดดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มตั้งแต่วันดังกล่าวหาใช่วันที่ศาลวินิจฉัยถึงที่สุดไม่ ส่วนอัตราดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินที่ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามสภาวการณ์โดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องไม่เกินร้อยละ 6.5 ต่อปี ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี เพราะไม่ให้เกินกว่าที่โจทก์ขอ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share