คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทที่มีผนังตึกร่วมกันแม้ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความจะไม่ปรากฏชัดว่าผนังตึกพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยึดถือและใช้สอยผนังตึกพิพาทร่วมกัน โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิครอบครองผนังตึกพิพาทร่วมกัน เมื่อโจทก์ ถูกกระทำละเมิดเป็นเหตุให้ผนังตึกแตกร้าว เสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างต่อเติมอาคารชั้นสามโดยจำเลยที่ 2 จะต้องเป็นผู้ทำให้สำเร็จตามความต้องการของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการจ้างทำของ ดังนั้นการงานที่จำเลยที่ 2และลูกจ้างได้กระทำไปโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำเกิดไปละเมิดต่อโจทก์ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดเองจะให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดด้วยไม่ได้ โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังในการเลือกหาผู้รับจ้างที่ดี เพียงแต่เลือกเอาผู้รับเหมาก่อสร้างธรรมดาที่ไม่มีความรู้ไม่มีเครื่องมือที่ดี จำเลยที่ 1 จึงประมาทเลินเล่อในการหาผู้รับจ้าง แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวซึ่งผนังห้องด้านขวาโจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จ้างจำเลยที่ 2 ต่อเติมตึกแถวแล้วคนงานของจำเลยที่ 2ใช้ค้อนทุบตีหัวเสาบนชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์แตกพังเสียหาย และทุบหลังคารื้อซุ้มประตูชั้นดาดฟ้าตึกของจำเลยที่ 1ด้านติดกับผนังตึกร่วมกับโจทก์ เป็นเหตุให้เกิดการสะเทือน อย่างแรงทำให้ผนังตึกด้านที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของโจทก์แตกร้าวเป็นแนวยาวหลายแห่ง เมื่อฝนตกน้ำฝนซึม เข้าในห้องได้ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ผนังห้องตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 1แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างต่อเติมเข้าลักษณะเป็นการจ้างทำของ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 2การทุบหัวเสาและรื้อซุ้มประตูบนชั้นดาดฟ้าคนงานของจำเลยที่ 2ทุบตามปกติ ไม่ทำให้เกิดการสะเทือน อย่างแรงและไม่เป็นเหตุให้ผนังตึกของโจทก์แตกร้าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองรวมเป็นเงิน 47,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว สำหรับผนังตึกแถวพิพาทนั้นแม้จะไม่ปรากฏชัดจากการนำสืบของคู่ความว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดแต่ก็ได้ความจากการที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ยึดถือและใช้สอยผนังตึกพิพาทร่วมกัน โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่1 จึงมีสิทธิครอบครองผนังตึกพิพาทร่วมกัน เมื่อโจทก์ทั้งสองถูกกระทำละเมิดเป็นเหตุให้ผนังตึกแตกร้าวเสียหาย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ ส่วนประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่นั้น ในข้อนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารชั้นสาม จำเลยที่ 2 และคนงานของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทุบผนังตึกพิพาทก่อให้เกิดการแตกร้าวแก่ผนังตึกพิพาทเกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้ให้คนงานของจำเลยที่ 2 ทุบผนังตึกในส่วนที่ก่อให้เกิดการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารชั้นสาม โดยจำเลยที่ 2 จะต้องเป็นผู้ทำให้สำเร็จตามความต้องการของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการจ้างทำของ ดังนั้นการงานที่จำเลยที่ 2 และลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำเกิดไปละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองก็เป็นเรื่องของจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด จะให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดด้วยไม่ได้ ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังในการเลือกหาผู้รับจ้างที่ดี เพียงแต่เลือกเอาผู้รับเหมาก่อสร้างธรรมดาที่ไม่มีความรู้ ไม่มีเครื่องมือที่ดีจำเลยที่ 1 จึงประมาทเลินเล่อในการหาผู้รับจ้างนั้น โจทก์ทั้งสองไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้องเป็นเรื่องที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย สำหรับค่าเสียหายศาลชั้นต้นรวมไว้ผิดเป็นเงินจำนวน 47,000 บาท ที่ถูกจำนวน 27,000 บาทศาลฎีกาจึงแก้เสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน 27,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้แล้วคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share