คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2641/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การครอบครองที่ดินโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ แม้จะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง ก็ถือเป็นการครอบครองที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ มิใช่นับแต่ที่จำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองนั้นเป็นที่ดินของโจทก์เพราะถือว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4659 เนื้อที่ 25 ไร่ 40 ตารางวา โดยโจทก์และนางมาลี สุสัณพลูทอง ภริยาโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2515 ส่วนจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 41 เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2538 โจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยยื่นคำคัดค้านว่าโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2539 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมเรียกโจทก์และจำเลยไปไกล่เกลี่ย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย เป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2498 นางพวง แซ่ลี้ มารดาจำเลย นายประเสริฐ เบ็ญจลักษณ์ และนางลูกจันทร์ เชาวสกู ร่วมกันยื่นแบบการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 36 เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2522 นางพวงกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าทำประโยชน์ในที่ดินโดยทำไร่ทั้งแปลงเพื่อขอให้นายอำเภอเมืองนครปฐมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ นายอำเภอเมืองนครปฐมหลงเชื่อจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 36 ให้แก่นางพวงกับพวก ซึ่งความจริงแล้วนางพวงกับพวกไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ดังกล่าว ต่อมานางพวงกับพวกได้ขอแบ่งแยกที่ดิน โดยด้านทิศตะวันออกเป็นของนายประเสริฐ เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา แปลงที่ 2 เป็นของนางพวง เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 41 และแปลงคงเหลือด้านทิศตะวันตกเป็นของนางลูกจันทร์เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ต่อมาเมื่อนางพวงถึงแก่ความตายจำเลยมีชื่อเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 41 ในฐานะผู้จัดการมรดกและฐานะทายาทโดยธรรมของนางพวง แต่จำเลยก็มิได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน การที่นางพวงกับพวกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 41 ทับที่ดินบางส่วนของโจทก์ คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4659 เลขที่ 114 ตำบลมาบแค อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์) จังหวัดนครปฐม ส่วนที่ถูกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 41 ตำบลมาบแค อำเภอเมืองนครฐม จังหวัดนครปฐม ออกทับเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เพียงผู้เดียว ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้จำเลยไปแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 41 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมให้ถูกต้องตามคำขอ หากจำเลยไม่ไปดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยรับว่าเป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 41 โดยรับมรดกมาจากนางพวง เบ็ญจลักษณ์ หรือแซ่ลี้ ผู้เป็นมารดา โดยเดิมที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2495 มารดาจำเลยนายประเสริฐ เบ็ญจลักษณ์ และนางลูกจันทร์ เชาวสกู ได้ร่วมกันยื่นคำขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 36/2498 และต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2522 มารดาจำเลยกับพวกก็ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวและแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 3 แปลง มารดาจำเลยกับพวกไม่เคยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จในการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่จริง ทั้งโจทก์เองก็เป็นพยานในการไต่สวนการทำประโยชน์และมาระวังแนวเขตที่ดินให้มารดาจำเลยกับพวกด้วย ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2538 โจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 4659 โจทก์และจำเลยจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 41 ทางด้านทิศเหนือคิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ความจริงแล้วเป็นที่ดินในโฉนดเลขที่ 4659 ของโจทก์บางส่วนทางด้านทิศตะวันตก การที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองมาโดยตลอด โดยสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวของโจทก์เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา เฉพาะส่วนที่จำเลยครอบครองตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งทำนองเดียวกับคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4659 เลขที่ดิน 114 ตำบลมาบแค อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์) จังหวัดนครปฐม เฉพาะส่วนทางด้านทิศตะวันตกที่จำเลยครอบครองอยู่เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยด้วยการครอบครองปรปักษ์ ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้อง ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยนำสืบพยานยืนยันได้ความว่า จำเลยเกิดและโตในที่ดินพิพาทและช่วยนางพวงทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท นางพวงทำประโยชน์โดยมีการปลูกต้นมะพร้าว มะม่วงและขนุน ซึ่งโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านในเรื่องการทำประโยชน์ในที่ดินไว้หลายประการ คือ ประการแรก โจทก์รับว่าได้ให้นางช้าน้องสาวของโจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกต้นชะอมไว้ตามภาพถ่ายหมาย ล.17 ซึ่งแนวต้นมะพร้าวตามภาพถ่ายดังกล่าวคือที่ดินของนางพวง นายประเสริฐ และนางลูกจันทร์ ประการต่อมาโจทก์รับว่าบริเวณที่ดินพิพาทที่นางลูกจันทร์และจำเลยรุกล้ำเขตโฉนดของโจทก์นั้นมีต้นมะพร้าวและต้นมะม่วงขึ้นอยู่ไม่ทราบว่าฝ่ายจำเลยหรือนายชุ้น นิระปัณณาหรือแซ่เอี้ยว เป็นผู้ปลูกไว้ ประการต่อมาโจทก์รับว่าเขตที่ดินของนางลูกจันทร์และจำเลยรุกล้ำเขตโฉนดของโจทก์นั้น บริเวณแนวต้นมะพร้าวตามภาพถ่ายหมาย ล.17 คือเส้นแบ่งระหว่างที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 4659 ทางด้านทิศตะวันตกกับที่ดินของนางลูกจันทร์และจำเลย ประการต่อมาโจทก์รับว่าในการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์จึงทราบว่าที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 41 ซึ่งเป็นของจำเลยทับที่ดินของโจทก์บางส่วน ประการต่อมาโจทก์รับว่า ขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4659 นั้น บุตรชายของนายซุ้นอายุประมาณ 10 ปี เป็นผู้นำโจทก์ไปดูแนวเขตของที่ดิน โดยทางทิศตะวันตกของที่ดินติดกับที่ดินของนายเลี้ยงและนางบ๊วย โดยขณะนั้นจะมีร่องน้ำเล็ก ๆ กั้นเป็นแนวเขต ซึ่งนางช้าไปปลูกต้นชะอมจนชนร่องน้ำดังกล่าว ดังนี้ เห็นว่า คำเบิกความของโจทก์เจือสมพยานจำเลยหลายประการ น่าเชื่อว่านางพวงและจำเลยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาเป็นเวลานานมากแล้ว จนกระทั่งเมื่อโจทก์ไปทำการรังวัดเข้าไปในที่ดินพิพาท จำเลยจึงได้คัดค้านว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นการครอบครองทับที่ดินในเขตโฉนดของโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ขอให้ศาลเดินเผชิญสืบที่ดินพิพาทก็ดีจำเลยเพิ่งจะเข้าไปปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาทก็ดี ไม่มีน้ำหนักที่หักล้างพยานจำเลยได้ และที่โจทก์ฎีกาเรื่องการรับรองแนวเขตที่ดินก็ไม่มีสาระสำคัญแต่อย่างใด เพราะในชั้นนี้ไม่ได้มีการโต้แย้งเรื่องแนวเขตแล้วเพราะจำเลยยอมรับว่าที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตที่ดินของโจทก์ โดยสรุปแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่า นางพวงและจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ก่อนปี 2522 แล้ว และการนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินของจำเลยก็สามารถนับต่อจากนางพวงได้ การครอบครองของโจทก์จึงมีระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่จำเลยครอบครองที่ดินโดยเข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเอง ถือเป็นการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายได้หรือไม่นั้น เห็นว่า การครอบครองที่ดินโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ แม้จะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง ก็ถือเป็นการครอบครองที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ มิใช่นับแต่ปี 2538 ที่จำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองนั้นเป็นที่ดินของโจทก์เพราะถือว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share