คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนแต่จำเลยไม่ส่งมอบคืน ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อติดตามทรัพย์สินของโจทก์คืนได้ แม้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว มีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตนดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่มาตรา 26 ก็บัญญัติว่าตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จะฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยมิได้เรียกร้องค่าเสียหายอื่นจากจำเลย เป็นการขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งและเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนเป็นหนี้ที่มิอาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 26

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กย – 6886 เชียงใหม่ ไปจากโจทก์ในราคา 482,714.04 บาท แบ่งชำระค่าเช่าซื้อเป็น 12 งวด งวดละเดือน รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงินเดือนละ 43,042 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2547 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนจนกว่าจะครบถ้วน และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 11.3 ให้เจ้าของมีสิทธิบอกสัญญาเช่าซื้อได้ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้เช่าซื้อ นับจากวันทำสัญญาจำเลยชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 2 งวด เป็นเงิน 80,591.34 บาท แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2547 ต่อมาปรากฏว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2547 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและแจ้งให้จำเลยคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ฟ้องว่าก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา 15 และ 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยคดีนี้ได้ จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 บัญญัติว่า “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้” เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์คืนแต่จำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อติดตามทรัพย์สินของโจทก์คืนได้แม้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 จะบัญญัติว่าเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว มีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตนดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก็ตาม แต่มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติว่า “ตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จะฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ ตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้…..” ดังนี้ จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นคดีเฉพาะหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์คืน โดยมิได้เรียกร้องค่าเสียหายอื่นจากจำเลย เป็นการขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งและเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนเป็นหนี้ที่มิอาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 26 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่

Share