คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1271/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลง ทำสัญญาขายฝากที่ดินของจำเลยที่ 1ให้ไว้แก่โจทก์โดย เอาจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตาม สัญญากู้ยืมมารวมเป็นราคาขายฝากและได้ ทำสัญญาขายฝากเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม กฎหมายมี ผลใช้บังคับกันได้ แล้ว การกระทำดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่ง เป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 มีผลทำให้หนี้ตามสัญญากู้เป็นอันระงับไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 100,000 บาทสัญญาจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินกู้ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาเมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 1ผิดสัญญาไม่ชำระดอกเบี้ยและต้นเงินให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงิน 100,000 บาท และดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง83,750 บาท รวมเป็นเงิน 183,750 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องจริง แต่จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 45059 ขายฝากให้แก่โจทก์ โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงให้นำจำนวนหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์มารวมเป็นหนี้ที่จะต้องชำระตามสัญญาขายฝากจำนวนเงิน 698,000 บาท และให้ยกเลิกสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว และโจทก์ได้รับเงินค่าไถ่ถอนการขายฝากจากจำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินอีก ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การเกินกำหนด ศาลชั้นต้นไม่รับคำให้การโจทก์ไม่ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3สิงหาคม 2522 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 83,750 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากตามเอกสารหมาย จ.14เป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลทำให้หนี้ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.2ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้จากการนำสืบรับกันว่า ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝาก ได้เอาจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมมารวมเป็นราคาขายฝาก และได้ทำสัญญาขายฝากเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายมีผลใช้บังคับกันได้ไปแล้ว การกระทำดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 349 มีผลทำให้หนี้ตามสัญญากู้เป็นอันระงับไป ส่วนการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำการไถ่ถอนการขายฝาก และเกิดมีปัญหาโต้แย้งขึ้นหลังจากจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากว่าจำเลยที่ 1 นำเอาเช็คที่ชำระเป็นค่าไถ่ถอนการขายฝากไปหรือไม่ ก็เป็นปัญหาทีเกิดขึ้นภายหลัง ปัญหาดังกล่าว หาเป็นเหตุที่จะทำให้หนี้ตามสัญญาขายฝากมิได้เกิดมีขึ้นหรือได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีไม่ กรณีไม่อยู่ในเหตุที่จะทำให้หนี้ตามสัญญากู้ยืมไม่ระงับ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 351 โจทก์จะนำเอาสัญญากู้ยืมซึ่งหนี้ได้ระงับไปแล้ว มาฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้อีกไม่ได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะแปลงหนี้เพราะการทำสัญญาขายฝากเป็นการรับรองหนี้เก่าและเพื่อความสะดวกในการชำระหนี้เก่า กับต้องการถือเอาการไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืม ขอให้ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจำเลยที่ 1ได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและตามสัญญาขายฝากให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่เห็นว่า เมื่อฟังได้ดังกล่าวข้างต้นว่าได้มีการแปลงหนี้ตามสัญญากู้ยืมมาเป็นหนี้ตามสัญญาขายฝาก ทั้งได้มีการปฏิบัติตามสัญญาขายฝากไปเสร็จสิ้นแล้ว จะให้ฟังว่าโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะแปลงหนี้ไม่ได้และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและสัญญาขายฝากให้แก่โจทก์หรือไม่ซึ่งมิใช่เป็นประเด็นในคดี จึงไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา…”
พิพากษายืน.

Share