แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้รับมอบอำนาจจากกรมการจัดหางานผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโท บ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อต่อมาจำเลยถูกจับกุมในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่มเมื่อร้อยตำรวจโท บ. ได้รับคำร้องทุกข์แล้ว จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบกระทำผิดก่อน ย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม (ข)และร้อยตำรวจโท บ. ได้ทำการสอบสวนตลอดมาในขณะที่ยังจับตัวจำเลยไม่ได้ จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย หาจำต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันจัดหางานให้แก่นายปราโมทย์ ยอดสุวรรณ์ นายวิเชียร รอนยุทธ นายชัยวัฒน์ อาวะบุตรนายธิติ ตรีสอน นายมนัส กองสังข์ และนายสมพงษ์ หลวงณเรณซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสองกับพวกสามารถหางานให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ โดยต้องเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายอันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วไม่สามารถหางานต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นได้ ผู้เสียหายทั้งหกหลงเชื่อ โดยนายปราโมทย์ ยอดสุวรรณ์นายวิเชียร รอนยุทธ นายชัยวัฒน์ อาวะบุตร และนายสมพงษ์ หลวงณเรณได้มอบเงินคนละ 250,000 บาท นายธิติ ตรีสอน และนายมนัส กองสังข์ได้มอบเงินคนละ 253,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกไป รวมเป็นเงิน 1,506,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไทและแขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ตำบลถาวร อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ตำบลและอำเภอใดไม่ปรากฏชัด จังหวัดปทุมธานี และตำบลห้วยไร่ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เกี่ยวพันกันขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงินแก่นายปราโมทย์ ยอดสุวรรณ์ นายวิเชียร รอนยุทธ นายชัยวัฒน์ อาวะบุตร และนายสมพงษ์ หลวงณเรณ คนละ 250,000 บาท นายธิติ ตรีสอน และนายมนัส กองสังข์ คนละ 253,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุก 4 ปี และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 240,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 250,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 และที่ 6 คนละ 253,000 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่า 1 ท้องที่ขึ้นไปจำเลยที่ 1 ถูกจับได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม ซึ่งอยู่ในอำนาจการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่มและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน ร้อยตำรวจโทบำรุง เหรียญทองพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อได้รับคำร้องทุกข์เป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่หาใช่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนที่มีอำนาจสรุปสำนวนเสนอความเห็นให้แก่พนักงานอัยการไม่ ดังนั้นการสอบสวนคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนมาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่าพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ และมาตรา 19 วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน(ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ (ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ หมายความว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเมื่อคดีนั้นมิได้มีการสอบสวนมาก่อน หรือมีการสอบสวนแล้ว แต่การสอบสวนนั้นไม่ชอบ กล่าวคือ สอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่มีเขตอำนาจที่จะสอบสวน คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาววาสนา รักสกุล ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากกรมการจัดหางานผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทบำรุง เหรียญทองพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน2539 ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2540จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่มเมื่อร้อยตำรวจโทบำรุงได้รับคำร้องทุกข์แล้ว จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบกระทำผิดก่อน ย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม (ข)และร้อยตำรวจโทบำรุงได้ทำการสอบสวนตลอดมาในขณะที่ยังจับตัวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 หาจำต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่”
พิพากษายืน