คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6895/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในหนี้สินของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินค้ำประกัน หมายความว่าแม้จำเลยที่ 1 จะมีหนี้อยู่มากกว่านี้ จำเลยที่ 2 คงต้องรับผิดเพียงวงเงินที่ค้ำประกันไว้เท่านั้นเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่มากกว่าวงเงินที่ค้ำประกัน จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันมิได้มีข้อความระบุว่าถ้าจำเลยที่ 1 ชำระเงินเท่าใดจะให้จำเลยที่ 2 รับภาระหนี้ที่ค้ำประกันอยู่ลดลงตามจำนวนหนี้ที่ชำระมาแล้ว จำเลยที่ 2 จะนำสืบพยานบุคคลว่าโจทก์เคยมีข้อตกลงดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันมีข้อสัญญาว่าถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 2 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ถ้ามีการขยายอายุสัญญากู้ยืมหรือผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมด้วยและจำเลยที่ 1 ได้จำนองห้องชุดเลขที่ 175/44ชั้นที่ 15 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุด “ศุภาลัย เพลส” ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 8/2537 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 146975 และ 146976 ตำบลคลองตันอำเภอคลองเตย กรุงเทพมหานคร ไว้กับโจทก์ หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยังขาดอยู่เป็นจำนวนเท่าใด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระเงินที่ขาดอยู่นั้นให้แก่โจทก์จนครบ โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองเป็นหนี้อีกต่อไป จึงบอกเลิกสัญญา และบอกกล่าวบังคับจำนองทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 4,406,920.70 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี ของเงินต้น 3,800,747.12 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน513,892.50 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของเงินต้น502,682 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ถ้าไม่พอขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทราบคำฟ้องแล้วประสงค์จะโอนหลักทรัพย์จำนองใช้หนี้ทั้งหมด หรือขอเวลาในการขายหลักทรัพย์จำนองนำเงินมาใช้หนี้

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่ตกลงตามสัญญา จึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยครบถ้วนแล้ว มิได้ชำระเพียง 193,000 บาท หลักทรัพย์ที่จำนองมีมูลค่าสูงกว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเกือบเท่าตัว จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิด รวมทั้งก่อนทำสัญญาค้ำประกัน โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 2ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ชำระเงินเท่าใดให้หักจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันออกเสียก่อนเพื่อปลดเปลื้องภาระการค้ำประกัน ดังนั้นในส่วนที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วจึงเป็นจำนวนเงินมากกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดใด ๆ ต่อโจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล มีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,406,920.70 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของเงินต้น 3,800,747.12 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 ตุลาคม 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนแก่โจทก์ โดยชำระ ณ ที่ทำการของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2540หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนถือว่าผิดนัดทั้งหมด ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 513,892.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีของเงินต้น 502,682 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนในทุนทรัพย์ 513,892.50 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องการสั่งคืนค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ พิพากษาแก้เป็นว่าให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นศาลชั้นต้นแก่โจทก์3 ใน 4 ส่วน ค่าทนายความชั้นศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพียง 309,682 บาท (หนี้ตามวงเงินค้ำประกัน 502,682 บาท เงินที่จำเลยที่ 1ชำระให้โจทก์แล้ว 193,000 บาท) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน2538 จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปตามฟ้องจำนวน 3,800,000 บาทโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงิน 502,682 บาท โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม รายละเอียดปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 หลังจากกู้เงินไปแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ในปี 2538 เป็นเงิน 193,000 บาท ซึ่งโจทก์หักชำระเป็นค่าดอกเบี้ย 188,084.12 บาทเป็นเงินต้น 4,915.88 บาท หลังจากนั้นก็ไม่ชำระอีกเลย คงผิดนัดเรื่อยมาการที่จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพียง 309,682 บาท ก็โดยอ้างว่าต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้ว 193,000บาท ไปหักออกจากวงเงินค้ำประกันก่อน ได้ผลลัพธ์เท่าใดจึงเป็นเงินส่วนที่เหลือที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ทั้งนี้โดยนำสืบตามคำให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์เคยตกลงกับจำเลยที่ 2 ว่าถ้าจำเลยที่ 1ชำระเงินเท่าใด จะให้จำเลยที่ 2 รับภาระหนี้ที่ค้ำประกันอยู่ลดลงตามจำนวนหนี้ที่ชำระมา เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในหนี้สินของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินค้ำประกัน 502,682 บาท ซึ่งหมายความว่าแม้จำเลยที่ 1 จะมีหนี้อยู่มากกว่านี้ จำเลยที่ 2 ก็คงต้องรับผิดเพียงวงเงินที่ค้ำประกันไว้เท่านั้น และกรณีนี้จำเลยที่ 1 ก็เป็นหนี้โจทก์อยู่มากกว่าวงเงินที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินค้ำประกันดังกล่าว สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 มิได้มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าถ้าจำเลยที่ 1 ชำระเงินเท่าใดจะให้จำเลยที่ 2 รับภาระหนี้ที่ค้ำประกันอยู่ลดลงตามจำนวนหนี้ที่ชำระมาแล้ว จำเลยที่ 2 จะนำสืบพยานบุคคลว่าโจทก์เคยมีข้อตกลงดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share