แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11,73 วรรคสอง และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14,31 วรรคสอง กับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป โดยไม้ดังกล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง ต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง แม้จำเลยกระทำความผิดในวันเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน สำหรับความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14,31 เป็นความผิดสำเร็จทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นความผิดต่างกรรมกันกับความผิดสองกรรมดังกล่าวมาข้างต้น จึงต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว จึงต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยทำไร่และทำคอกเลี้ยงโค กระบือ เนื้อที่จำนวน 5 ไร่ อันเป็นการทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯมาตรา 14,31 วรรคหนึ่ง เท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นมาตรา 31 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชัดเจน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทำไม้โดยการตัดฟันโค่นไม้กระโดน ไม้แคป่า ไม้ตะแบก ไม้ติ้ว ไม้ตีนนก ไม้มะค่าโมง ไม้กะฮามและไม้โมก ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จำนวน 54 ต้น ไม้ป่าดงภูสีฐานซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยมีไม้หวงห้ามประเภท ก. ดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูป จำนวน 54 ท่อน ปริมาตร9.86 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย และพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย กับจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวโดยทำไร่และทำคอกเลี้ยงโค กระบือ เนื้อที่จำนวน 5 ไร่ อันเป็นการทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ มีผู้ประสงค์รับเงินสินบนนำจับ นำเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดไม้ท่อนจำนวนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 69, 73, 74, 74 จัตวาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมายและสั่งให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 69 วรรคสอง, 73 วรรคสอง (2), 74, 74 ทวิ,74 จัตวา เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปจำคุก 2 ปี ฐานยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ริบของกลาง ให้จำเลยและบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้อง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุก 6 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว รวมกับโทษจำคุกฐานอื่น คงจำคุก2 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนั้นเห็นว่า ความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11,73 วรรคสอง (2) และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31 วรรคสองกับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม้ดังกล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง นั้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดในวันเดียวกัน แต่การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เพราะความผิดแต่ละกรรมดังกล่าวย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง ส่วนความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 นั้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดในวันเดียวกันกับความผิดสองกรรมดังกล่าวมา แต่การกระทำความผิดของจำเลยในส่วนนี้ย่อมเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดสองกรรมดังกล่าวมาข้างต้น การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดสามกรรมต่างกัน ซึ่งต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยสามกรรมเป็นกระทงความผิดชอบแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้นเห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่บรรยายว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยทำไร่และทำคอกเลี้ยงโค กระบือ เนื้อที่จำนวน 5 ไร่อันเป็นการทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง เท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ด้วยนั้น เป็นการไม่ชัดเจน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1