คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3012-3013/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 8 รู้ว่าถุงปุ๋ยจำนวน 7 ถุง ภายในบรรจุเฮโรอีนและได้ร่วมกันลำเลียงมาจากบ้านของ ส. ลงเรือเพื่อส่งให้กับเรือใหญ่ในน่านน้ำสากลเป็นความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 อยู่บนเรือพร้อมจะออกเดินทางสู่น่านน้ำสากลได้ทุกเมื่อการที่จำเลยคนใดคนหนึ่งซึ่งอยู่บนเรือได้แกะเชือกที่หัวเรือออก เป็นการลงมือเพื่อส่งเฮโรอีนของกลางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว จึงมีความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย หาจำต้องให้เรือแล่นสู่น่านน้ำสากลเสียก่อนไม่

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกนายโปร่ง เกตุศิริ จำเลยสำนวนคดีหลังว่าจำเลยที่ 9

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 7 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 11, 12, 62, 64, 81ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91 ริบเฮโรอีนของกลาง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเก้ามีความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีความผิดฐานร่วมกันพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 65 (ที่ถูก 65 วรรคสอง) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 เฉพาะจำเลยที่ 6 ยังมีความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมืองและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 62 วรรคหนึ่ง และ 81 อีก2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 4 เดือน ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15 และ 66 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนัก ประหารชีวิต จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8ให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม ประกอบมาตรา 52(1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ตลอดชีวิต สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองในส่วนจำเลยที่ 6 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน แต่เมื่อลงโทษจำเลยที่ 6 จำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษ 2 กระทงหลังมารวมได้อีก ริบเฮโรอีนของกลาง คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 6 และที่ 7 ที่ไม่อุทธรณ์ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 8และที่ 9 ว่า จำเลยดังกล่าวได้ร่วมกับจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่อุทธรณ์ฎีกา มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจเอกอมเรศฤทธิ์ ร้อยตำรวจโทนิรันดร์และจ่าสิบตำรวจจรูญพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ความเป็นมาก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ว่า เมื่อปี 2536พันตำรวจเอกอมเรศฤทธิ์กับพวกได้รับแจ้งจากสายลับทางหนึ่งและจากเจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสพติดของประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีศูนย์ข่าวประจำอยู่ในประเทศไทยอีกทางหนึ่งว่าจำเลยที่ 9 มีพฤติการณ์ลักลอบขนเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรและมีการติดต่อกับพ่อค้ายาเสพติดชาวฮ่องกงที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้เฝ้าติดตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 9 มาตั้งแต่บัดนั้น เมื่อพ่อค้ายาเสพติดเดินทางเข้ามาในประเทศไทย พยานโจทก์ทั้งสามต่างแบ่งหน้าที่เฝ้าดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 9 ตามโอกาส พบว่าจำเลยที่ 9 กับพ่อค้ายาเสพติดได้มีการพบปะกันหลายครั้งหลายคราวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2537 มาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2537 และได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกว่า จำเลยที่ 9 ได้ติดต่อว่าจ้างนายสังวาลย์ กลีบอุบล ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 113 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ให้ขนเฮโรอีนลงเรือศรีอุบลชัยออกนอกราชอาณาจักรและจะมีการออกเดินทางแล้ว ข้อนี้ร้อยตำรวจโทนิรันดร์และจ่าสิบตำรวจจรูญพยานโจทก์ซึ่งเฝ้าสังเกตบ้านนายสังวาลย์เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ พยานทั้งสองเฝ้าซุ่มดูที่บ้านนายสังวาลย์ เห็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ช่วยกันลำเลียงของและถุงปุ๋ยมาลงเรือศรีอุบลชัยโดยมีนายสังวาลย์ยืนชี้นิ้วสั่งการ เรือดังกล่าวลอยลำเตรียมพร้อมจะออกจากท่าต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2537 ร้อยตำรวจโทนิรันดร์พยานได้รับแจ้งจากสายลับว่าเรือจะออกเดินทางแล้ว ครั้นเวลาประมาณ 14 นาฬิกา พยานทั้งสองกับพวกเห็นลูกเรือปลดเชือกที่หัวเรือที่เสาหลัก พยานกับพวกจึงเข้าจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 แต่จำเลยบางคนกระโดดน้ำหนี แต่ในที่สุดก็ถูกจับได้ทั้งหมด จากการตรวจค้นนอกจากจะพบอุปกรณ์ในการเดินเรือแล้วยังพบถุงปุ๋ยบรรจุเฮโรอีนจำนวน 7 ถุง ใต้ท้องเรือจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจค้นบ้านนายสังวาลย์และจับนายสังวาลย์ค้นพบกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ระบุข้อความว่า “01-4031713 ลุงโปร่ง 6-9 เช้าเย็น” ตามเอกสารหมาย จ.7 เห็นว่า การจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 บนเรือศรีอุบลชัยพร้อมได้เฮโรอีนของกลางและสัมภาระในการเดินเรือในลักษณะเตรียมพร้อมมิใช่เป็นการโดยบังเอิญ แต่เป็นการสืบทราบของเจ้าพนักงานตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาตลอดเป็นระยะและใช้เวลานานพอสมควร เฮโรอีนของกลางมีจำนวน 319 แท่ง น้ำหนักประมาณ 124.7 กิโลกรัม มีจำนวนมากและใกล้เคียงกับรายงานของสายลับ หากพันตำรวจเอกอมเรศฤทธิ์และร้อยตำรวจโทนิรันดร์ไม่ได้รับข่าวสารหรือรายงานของสายลับแล้ว ก็ไม่อาจทราบว่าบนเรือศรีอุบลชัยจะมีสิ่งของผิดกฎหมายและไม่อาจจับในครั้งนี้ได้จึงรับฟังได้ว่าพันตำรวจเอกอมฤทธิ์และร้อยตำรวจโทนิรันดร์ได้รับรายงานข่าวและรายงานจากสายลับซึ่งมีตัวตนจริง เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ได้โดยไม่ทันรู้ตัว เฮโรอีนของกลางบรรจุอยู่ในถุงปุ๋ยมีขนาดใหญ่พอประมาณ ก่อนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 จะขนสัมภาระและถุงปุ๋ยดังกล่าวลำเลียงมาที่เรือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ซึ่งต่างก็ผ่านอาชีพเป็นลูกเรือประมงมาก่อนย่อมสามารถแยกแยะและสังเกตได้ว่าถุงปุ๋ยดังกล่าวไม่ใช่สัมภาระหรืออุปกรณ์หรือเสบียงอาหารเพื่อใช้ประโยชน์ทำการประมงออกสู่ทะเล ทั้งปรากฏว่าถุงปุ๋ยเหล่านี้ถูกลำเลียงนำไปซุกซ่อนใต้ท้องเรือเป็นการจัดเก็บในลักษณะปกปิด จึงไม่อาจคาดคิดเป็นอย่างอื่นว่าถุงปุ๋ยเหล่านั้นจะต้องบรรจุของผิดกฎหมายอย่างแน่นอน พันตำรวจเอกอมเรศฤทธิ์และร้อยตำรวจโทนิรันดร์พยานยืนยันว่า ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ให้การรับสารภาพ แม้ในบันทึกการจับกุมมิได้บันทึกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ให้การรับสารภาพอย่างไรก็ตาม เชื่อว่าขณะนั้นเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับมุ่งแต่จะควบคุมผู้กระทำผิดและตรวจยึดของกลางไว้เป็นสำคัญก่อน และเพื่อจะนำผู้กระทำผิดทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน จึงไม่ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับคำรับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ไว้ในขณะนั้นและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ก็มาให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนอีก ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 8 อ้างว่า ลงชื่อในบันทึกคำให้การ แต่พนักงานสอบสวนไม่อ่านข้อความให้ฟังและเกรงว่าจะถูกทำร้ายนั้น เห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 โดยรวมนั้น มีข้อความแสดงรายละเอียดพฤติการณ์ก่อนและขณะกระทำความผิดเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกัน มีเหตุผลน่าเชื่อถือว่าเป็นคำให้การโดยสมัครใจ หากพนักงานสอบสวนบันทึกคำให้การของจำเลยเหล่านั้นขึ้นเสียเองและบังคับให้ลงชื่อแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมน่าจะกระทำเสียในครั้งแรกในบันทึกการจับกุมด้วยเช่นกัน กล่าวโดยสรุปพยานโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 8 มีทั้งพยานบุคคลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนกับพยานวัตถุซึ่งเป็นเฮโรอีนของกลางที่ยึดได้ในคราวเดียวกัน ทั้งคำรับสารภาพดังกล่าวย่อมรับฟังเป็นหลักฐานมั่นคงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 8 รู้ว่าถุงปุ๋ยจำนวน 7 ถุง ภายในบรรจุเฮโรอีนและได้ร่วมกันลำเลียงมาจากบ้านนายสังวาลย์ลงเรือเพื่อส่งให้กับเรือใหญ่ในน่านน้ำสากล จึงเป็นความผิดในฐานมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 8 กับพวกอยู่บนเรือที่มีอุปกรณ์ สัมภาระและเสบียงอาหารเตรียมพร้อมครบถ้วนในการออกสู่น่านน้ำสากลนั้นจำเลยคนหนึ่งได้แกะเชือกที่หัวเรือจะออกเดินทางสู่น่านน้ำมีเป้าหมายจะนำเฮโรอีนของกลางส่งให้กับเรือใหญ่ที่น่านน้ำสากล ข้อนี้จำเลยที่ 9 ฎีกาว่า สถานที่เกิดเหตุอยู่จังหวัดเพชรบุรี การเดินเรือจะต้องออกสู่อ่าวไทยเพื่อสู่น่านน้ำสากล ลูกเรือเพียงแต่แก้เชือกเพื่อเตรียมพร้อมออกเรือแต่ถูกจับเสียก่อน ลูกเรืออาจจะเปลี่ยนใจนำสิ่งของไปส่งที่จังหวัดหนึ่งจังหวัดใดในเขตราชอาณาจักรไทยก็ได้ หรือเมื่อออกเรือแล้วอาจพบกับพายุลมแรงไม่ออกนอกราชอาณาจักรไทยก็ได้เช่นกัน การกระทำจึงไม่เกิดความผิดสำเร็จ เป็นเพียงขั้นตระเตรียมการไม่เข้าขั้นพยายามกระทำความผิด เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 อยู่บนเรือพร้อมจะออกเดินทางได้ทุกเมื่อ การที่จำเลยคนใดคนหนึ่งซึ่งอยู่บนเรือได้แกะเชือกที่หัวเรือออก เป็นการลงมือเพื่อส่งเฮโรอีนของกลางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว จึงมีความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย หาจำต้องให้เรือแล่นสู่น่านน้ำสากลเสียก่อนไม่ ปัญหาต่อไปจึงมีว่า จำเลยที่ 9 ได้ร่วมกับจำเลยที่กล่าวมากระทำผิดด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบมาแต่ต้นว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2536 พันตำรวจเอกอมเรศฤทธิ์ได้รับรายงานข่าวว่า จำเลยที่ 9 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 24/1 หมู่ที่ 6 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพฤติการณ์ลักลอบขนเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักร วันที่ 24 มิถุนายน 2537 พ่อค้ายาเสพติดเดินทางจากฮ่องกงเข้ามาในประเทศไทยมาพบกับจำเลยที่ 9 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 เจ้าพนักงานตำรวจฮ่องกงแจ้งข่าวผ่านเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีศูนย์ข่าวในประเทศไทยว่า พ่อค้ายาเสพติดคนเดิมเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอีก จำเลยที่ 9 ได้มาพบกับพ่อค้ารายนี้ที่ลานจอดรถโรงแรมสยามแล้วพากันไปคุยต่อในคอฟฟี่ช็อพของโรงแรม เจ้าพนักงานตำรวจได้แอบถ่ายภาพไว้ ต่อมาเย็นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 9 กับพ่อค้ายาเสพติดพบปะกันอีกที่โรงแรม วันที่ 18 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 9 พบกับพ่อค้ายาเสพติดที่ภัตตราคารของห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า แล้วร่วมกันเดินทางไปจังหวัดเพชรบุรี วันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 สายลับแจ้งว่าจำเลยที่ 9 ได้มาติดต่อกับนายสังวาลย์ กลีบอุบล ให้จัดเรือขนส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักร ร้อยตำรวจโทนิรันดร์และจ่าสิบตำรวจจรูญกับพวกจึงเฝ้าติดตามดูพฤติการณ์ของนายสังวาลย์และเห็นลูกเรือกำลังลำเลียงถุงปุ๋ยลงเรือศรีอุบลชัยที่จอดเทียบท่าหลังบ้านนายสังวาลย์ ต่อมาในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจึงเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 บนเรือรวมทั้งนายสังวาลย์ที่บ้านพัก เห็นว่าเมื่อประมวลพฤติการณ์ของจำเลยที่ 9 จนกระทั่งมีการจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และนายสังวาลย์ ซึ่งเป็นการจับยาเสพติดรายใหญ่ที่ไม่อาจจะกระทำได้โดยง่าย เพราะผู้ขายและผู้ซื้อยาเสพติดต่างกระทำเป็นความลับ โดยเฉพาะมีพ่อค้าซึ่งเป็นนายทุนจากต่างประเทศด้วยแล้ว การกระทำย่อมเป็นกระบวนการ จะต้องมีการติดต่อเป็นระยะและใช้เวลาพอสมควร เจ้าพนักงานตำรวจจึงต้องมีแหล่งข่าวไม่ว่าจะจากสายลับหรือจากหน่วยปราบปรามยาเสพติดของต่างประเทศประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจของประเทศไทยด้วย อย่างเช่นรายของจำเลยที่ 9 ในคดีนี้ ที่เจ้าพนักงานตำรวจต้องใช้เวลาติดตามพฤติการณ์อย่างอดทนและเป็นเวลานานพอสมควร จนได้หลักฐานแน่ชัดเสียก่อนจึงเข้าจับ ดังนั้น ถ้อยคำของพันตำรวจเอกอมเรศฤทธิ์ ร้อยตำรวจโทนิรันดร์และจ่าสิบตำรวจจรูญพยานทั้งสามดังกล่าวนั้น จึงมีเหตุผลรับฟังได้เป็นความจริงมิฉะนั้น เจ้าพนักงานตำรวจก็จะไม่สามารถจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 พร้อมด้วยเฮโรอีนของกลางได้ต่อหน้าต่อตา โดยที่จำเลยที่ 9 มีอาชีพประมงมีเรือออกจับปลาของตนเองอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปกติธรรมดาแล้วไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับพ่อค้ายาเสพติดและมีพฤติการณ์แอบพบปะในสถานที่ต่าง ๆ หลายครั้งหลายคราวในประเทศไทยในลักษณะผิดปกติ และจำเลยที่ 9 ยังเกี่ยวพันมาถึงนายสังวาลย์ซึ่งมีอาชีพประมง มีเรือจับปลาในทะเลอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 9 ได้ฝากลูกเรือคือ จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 มาอยู่กับเรือศรีอุบลชัย ส่วนนายสังวาลย์ก็มีลูกเรือคือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 8 มารวมตัวกันเพื่อปฏิบัติภารกิจส่งเฮโรอีนโดยเฉพาะปรากฏในคำให้การของนายสังวาลย์ในชั้นสอบสวนระบุว่าจำเลยที่ 9 มาติดต่อว่าจ้างให้นายสังวาลย์นำเฮโรอีนลงเรือไปส่งให้แก่เรือใหญ่ที่กลางทะเลนอกอ่าวไทยตกลงค่าจ้าง 150,000 บาท โดยจำเลยที่ 9 จะส่งนายไพรัตน์ รัตนจำนงค์ (จำเลยที่ 4) มาเป็นคนขับเรือ จำเลยที่ 9 ได้มอบกระดาษที่ได้บันทึกเลขหมายโทรศัพท์มือถือ เลข 01-4031713 ให้นายสังวาลย์ไว้ใช้ติดต่อและมอบเงินสด 100,000 บาท ให้นายสังวาลย์แล้ว ตามบันทึกและคำให้การ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับนายสังวาลย์ได้แล้ว พบกระดาษบันทึกจากนายสังวาลย์และเมื่อจำเลยที่ 9 ถูกจับเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดสมุดจดหมายเลขโทรศัพท์ เมื่อนำกระดาษมาเทียบเข้ากับรอยต่อของกระดาษที่ถูกฉีกออกจากสมุดโทรศัพท์แล้ว รอยฉีกทั้งสองแห่งเข้ากันได้สนิท จึงเชื่อว่ากระดาษฉีกออกมาจากสมุดจดโทรศัพท์ของจำเลยที่ 9 จำเลยที่ 9 ก็รับว่าลายมือในกระดาษเป็นของตน แต่อ้างว่าได้จดบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ไว้เมื่อตอนจำหน่ายพระเครื่องและไม่ใช่หมายเลขโทรศัพท์ของตน แต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับยึดเอาสมุดโทรศัพท์แล้วฉีกกระดาษที่จดบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ไปเสียเอง ข้ออ้างของจำเลยที่ 9ดังกล่าวฟังแล้วขาดเหตุผลจึงไม่มีน้ำหนัก ส่วนภาพถ่ายที่เจ้าพนักงานตำรวจแอบถ่ายในขณะที่จำเลยที่ 9 กำลังนั่งสนทนากับชายคนหนึ่งในห้องอาหารของโรงแรมสยามนั้น จำเลยที่ 9 อ้างว่าไม่แน่ใจว่าจะเป็นภาพถ่ายของตนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากใบหน้าและแว่นตาที่สวมใส่ของบุคคลในภาพแล้ว เชื่อได้โดยสนิทใจว่าบุคคลในภาพเป็นจำเลยที่ 9 ไม่ผิดตัว ประกอบกับเมื่อจำเลยที่ 9 ถูกจับแล้วพันตำรวจเอกอมเรศฤทธิ์และร้อยตำรวจโทนิรันดร์ได้มาชี้ตัวจำเลยที่ 9 ว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับที่เฝ้าติดตามมาตามภาพถ่ายการชี้ตัวได้ถูกต้อง โจทก์ยังมีนางนพนิต เล็กสาคร ซึ่งให้การในชั้นสอบสวนก่อนนายสังวาลย์บิดาตายและเบิกความเป็นพยานต้องกันว่า ก่อนที่นายสังวาลย์จะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม พยานเคยเห็นจำเลยที่ 9 มานั่งคุยกับนายสังวาลย์ที่บ้าน ซึ่งคำให้การในชั้นสอบสวนของนางนพนิตดังกล่าวเชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริง เพราะคำให้การในลักษณะนี้ตกเป็นผลร้ายต่อนายสังวาลย์บิดาของตนด้วย ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 9 กับนายสังวาลย์มีการติดต่อกันโดยตรงตัวต่อตัว นอกจากจะติดต่อทางโทรศัพท์อีกทางหนึ่ง และคำให้การของนายสังวาลย์ในชั้นสอบสวน แม้จะเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย แต่ก็สามารถนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานโจทก์เชื่อมโยงกันเป็นเหตุเป็นผล จนน่าเชื่อว่านายสังวาลย์ได้ตกลงรับจ้างจำเลยที่ 9 นำเรือศรีอุบลชัยบรรทุกเฮโรอีนไปส่งให้แก่เรือใหญ่นอกอ่าวไทยในน่านน้ำสากล ซึ่งร้อยตำรวจโทนิรันดร์และจ่าสิบตำรวจจรูญพยานโจทก์เห็นพวกจำเลยเหล่านั้นกำลังลำเลียงสัมภาระและถุงปุ๋ยบรรจุเฮโรอีนของกลางลงเรือศรีอุบลชัยโดยมีนายสังวาลย์ยืนชี้นิ้วบงการก่อนที่มีการจับ 1 วัน เนื่องจากนายสังวาลย์เป็นเพียงผู้รับจ้างและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 เป็นเพียงลูกเรือ เฮโรอีนของกลางที่ยึดได้จากใต้ท้องเรือในวันเกิดเหตุมีจำนวนมากจึงมีราคาสูง ซึ่งตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 9 เป็นผู้จัดหาเฮโรอีนของกลางนำมาที่บ้านของนายสังวาลย์เพื่อนำลงเรือศรีอุบลชัยลักลอบนำออกราชอาณาจักรสู่น่านน้ำสากลเพื่อส่งต่อเรือใหญ่ที่มารอรับในน่านน้ำแต่เรือศรีอุบลชัยยังไม่ทันแล่นออกจากท่าเทียบเรือ ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับเสียก่อนพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 9 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 มาตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 ฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยที่ 9 ฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองวางโทษแก่จำเลยเท่ากันนั้นไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย เพราะจำเลยบางคนเป็นไต้ก๋งเรือ จำเลยบางคนเป็นช่างเครื่องและบางคนทำหน้าที่หุงหาอาหาร ชอบที่จะวางโทษจำเลยเหล่านั้นลดหลั่นกันไป ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเหล่านั้นกระทำความผิดข้อหาเดียวกัน กฎหมายถือว่าเป็นตัวการแม้หน้าที่ของจำเลยเหล่านั้นจะแตกต่างกันก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวกับความผิดที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 9 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share