คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2567/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 22(3) ที่ว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ หมายถึง คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ลูกหนี้มีสิทธิฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องเท่านั้น หากลูกหนี้ไม่มีสิทธิฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องย่อมไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าดำเนินการ จำเลยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. ต่อโจทก์ แม้ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. เด็ดขาดและโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องร้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เพราะจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. แต่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลย
แม้จำเลยจะทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่เมื่อขณะทำสัญญาค้ำประกันโจทก์ยังไม่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ โจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. เป็นคดีล้มละลายเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่ พระราชบัญญัติล้มละลายฯ บัญญัติไว้โดยเฉพาะ มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) เป็นโทษแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. และย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตามมาตรา 692 และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในภายหลัง ก็ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์เป็นผู้เคยค้ากับโจทก์โดยขอสินเชื่อหลายประเภท เช่น ประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชี ประเภทเงินกู้ ประเภทหนี้ทรัสต์รีซีท ประเภทเล็ตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศ ประเภทหนี้รับรองหรืออาวัลตั๋วเงินและประเภทค้ำประกัน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2522 ในวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2522 ในวงเงินไม่เกิน 2,000,000 บาท โดยค้ำประกันหนี้ทุกชนิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ ซึ่งมีอยู่ต่อโจทก์ขณะทำสัญญาหรือที่จะมีต่อไปในภายหน้าโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยจะนำเงินมาชำระภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับแจ้งจากโจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตลอดจนค่าเสียหาย ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ล้มละลาย หรือย้ายไปจากถิ่นที่อยู่หรือกรณีอื่นที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จำเลยยอมรับผิดร่วมและหรือแทนลูกหนี้ทันทีที่โจทก์เรียกร้อง ต่อมาโจทก์อนุมัติให้สินเชื่อประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่สัญญาไว้ในหนี้ทุกประเภท โจทก์จึงฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์เป็นคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2532 โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2532 ในหนี้ทุกประเภทที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์มีต่อโจทก์จนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดคือ หนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี 1,505,488.89 บาท หนี้เงินกู้ 26,370,838 บาท หนี้ทรัสต์รีซีท 31,860,796.59 บาท หนี้เล็ตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศ 6,392,270 บาท หนี้อาวัลตั๋วเงิน 20,742,192.99 บาท หนี้ค้ำประกัน 191,121.03 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 87,062,707.50 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉยจำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับเป็นเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดตามหนังสือทวงถามคือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 50,547.94 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,050,547.94 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ 2 ฉบับ เพื่อค้ำประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ตามที่โจทก์ฟ้องแต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย เนื่องจากโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ได้ทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เป็นหนี้ประเภทเงินกู้ตั้งแต่ปี 2528 โดยจำเลยไม่ได้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าว เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ทวงถามห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์และผู้ค้ำประกันคนอื่นให้ชำระหนี้ แต่ไม่เคยทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์และผู้ค้ำประกันคนอื่นเป็นคดีล้มละลาย โจทก์ก็มิได้ฟ้องจำเลยในฐานะผู้ร่วมค้ำประกันด้วย และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดกิจการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และสัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับที่โจทก์ฟ้องจำเลยทำไว้ตั้งแต่ปี 2522 เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาประมาณ 17 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,050,547.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 มีนาคม 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยเพื่อนำไปแบ่งชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(3) ที่บัญญัติว่าเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หมายถึง คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ลูกหนี้มีสิทธิฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องเท่านั้น หากลูกหนี้ไม่มีสิทธิฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้อง ย่อมไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าดำเนินการ คดีนี้จำเลยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ไว้ต่อโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์เด็ดขาดและโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ตาม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องร้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เพราะจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ แต่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลย

ที่จำเลยฎีกาในข้อสุดท้ายว่า สำเนาหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2522 และตามเอกสารหมาย จ.3 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2522 เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาประมาณ 17 ปี และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 บัญญัติว่า “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนด 10 ปี” สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 10 ปี ก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติให้อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อขณะทำสัญญาค้ำประกันโจทก์ก็ยังไม่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ โจทก์จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องแห่งสัญญาค้ำประกันได้เมื่อใด ย่อมขึ้นอยู่กับว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ชำระหนี้ที่จำเลยค้ำประกันได้เมื่อใด คดีนี้ได้ความว่าขณะที่โจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์เป็นคดีล้มละลาย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องยังไม่ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นจึงได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์เด็ดขาด และการฟ้องคดีล้มละลายย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะอันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดฤดีสุนันท์ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 692 และตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ฉะนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในภายหลัง ก็ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี ตามที่จำเลยฎีกา สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share