คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำผิดและพาทรัพย์นั้นไป ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยฉกฉวยพาหนีไปต่อหน้าอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เห็นได้ว่าโจทก์ไม่ได้ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานวิ่งราวทรัพย์ด้วย จะลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้ คงลงโทษจำเลยทั้งสองได้ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปในบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของ บ. ผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันลักเอาเครื่องรับโทรทัศน์จำนวน ๑ เครื่อง ของผู้เสียหายซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ท.และเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไปโดยทุจริต โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ท. เพื่อมิให้ ท. เข้าขัดขวางการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป และในการชิงทรัพย์ดังกล่าว จำเลยได้ร่วมกันใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำผิดและพาทรัพย์นั้นไป ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓, ๘๓, ๙๐, ๓๓๙, ๓๔๐ ตรี, ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕ ให้ริบรถยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๖ วรรคหนึ่ง, ๓๓๖ ทวิ, ๓๖๒, ๓๖๔ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๖ วรรคหนึ่ง, ๓๓๖ ทวิ จำคุกคนละ ๓ ปี รถยนต์ของกลางให้ริบ
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์นั้น คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำผิดและพาทรัพย์นั้นไป ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยฉกฉวยพาหนีไปต่อหน้าอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์จึงเห็นว่าโจทก์ไม่ได้ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานวิ่งราวทรัพย์ด้วยเพราะความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งมีลักษณะพิเศษไปจากการลักทรัพย์ธรรมดา เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์แล้วจะลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้ คงลงโทษจำเลยทั้งสองได้ในความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปเท่านั้นตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนายกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาไปถึงจำเลยที่ ๒ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕(๗) วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๓๓๖ ทวิ, ๓๖๒, ๓๖๕ ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๗) วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๓๓๖ ทวิซึ่งเป็นบทหนัก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share