คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9842/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยทั้งสามจะเป็นคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการให้ส่วนราชการ และระเบียบการจัดสวัสดิการในส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และจำเลยทั้งสามกู้ยืมเงินในฐานะคณะกรรมการกองทุนดังกล่าว ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอดังกล่าวมีสภาพเป็น นิติบุคคล หน่วยงานที่จำเลยอ้างว่าทำแทนไม่มีตัวตนอยู่ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมและได้รับเงินกู้ไปจากผู้ให้กู้ จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายจรัส หรืออรุณทัต บิดาผู้ถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสามร่วมกันกู้เงินไปจากนายจรัสจำนวน 30,000 บาท เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2539 ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน นับแต่กู้ไปจำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยให้เพียง 3 เดือน โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 39,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกและผู้มีสิทธิรับมรดกของนายจรัส โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้เงินนายจรัส ความจริงแล้ว นายจรัสได้นำเงินมาลงหุ้นในกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงาน การประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา สัญญากู้เงินตามฟ้องในช่องผู้กู้เป็นชื่อของคณะกรรมการกองทุนผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา จำเลยที่ 1 ลงชื่อในฐานะประธานกรรมการกองทุนดังกล่าว จึงไม่ต้องรับผิดเป็น การส่วนตัว นายจรัสได้รับดอกเบี้ยจากกองทุนอัตราร้อยละ 2 บาทต่อเดือน ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2539 จนถึงวันชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 9 กันยายน 2541) ต้องไม่เกิน 9,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายโดยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามกู้ยืมเงินในฐานะกรรมการของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา กองทุนดังกล่าวจัดตั้งขึ้นโดยระเบียบสำนักงานนายกรัฐมนตรี และระเบียบสำนักคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ ซึ่งได้ให้อำนาจคณะกรรมการกองทุนก่อหนี้ผู้พันในนามของกองทุนสวัสดิการได้ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสามจะเป็นคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยระเบียบสำนักงานนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการให้ส่วนราชการ และระเบียบการจัดสวัสดิการในส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และจำเลยทั้งสามกู้ยืมเงินในฐานะคณะกรรมการกองทุนดังกล่าวก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ กองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตามีสภาพเป็นนิติบุคคล หน่วยงานที่จำเลยอ้างว่าทำแทนไม่มีตัวตนอยู่ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืม เอกสารหมาย จ. 2 และได้รับเงินกู้ไปจากนายจรัสบิดาโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยทั้งสามฎีกาข้อต่อมาว่า การกู้เงินรายพิพาทผู้ให้กู้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่า ตามคำฟ้องและหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ. 2 นายจรัสผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนหรือ ร้อยละ 15 ต่อปี อัตราดังกล่าวมิได้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share