แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยตอกบัตรลงเวลาทำงานแล้วมิได้อยู่ปฏิบัติงานนั้น มิได้กระทำโดยส่อเจตนาทุจริต และไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง ดังนี้ การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ตอกบัตรลงเวลาทำงาน และไม่อยู่ปฏิบัติงาน แต่ลงชื่อในช่องเลิกงานเพื่อให้บุคคลอื่นตอกบัตรลงเวลาให้แทน การอ้างว่าป่วยก็ไม่อาจรับฟังได้และที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าหากพนักงานของจำเลยกระทำอย่างโจทก์แล้วไม่ผิด จำเลยอาจได้รับความเสียหาย และที่ว่าวันรุ่งขึ้นโจทก์ไปพบผู้จัดการและรองผู้จัดการเพื่อขอเปลี่ยนวันดังกล่าวเป็นวันหยุดนั้น ความจริงแล้วโจทก์ถูกผู้จัดการและรองผู้จัดการเรียกไปพบเพื่อสอบถามถึงเหตุที่ไม่มาทำงาน การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำโดยทุจริตและเป็นความผิดร้ายแรง ดังนี้เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และโดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิดโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 12,000 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 49 วัน เป็นเงิน 6,533 บาท แต่จำเลยไม่จ่ายให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 12,000บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 6,533 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีอาชีพจำหน่ายสุรา อาหาร และบริการด้านอื่น ๆ โดยมีโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งหัวหน้าบาร์เหล้าโจทก์ปฏิบัติงานบกพร่องหลายครั้ง ซึ่งจำเลยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาแล้วสองครั้ง แต่ต่อมา โจทก์ตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานแล้วแต่มิได้เข้าปฏิบัติงาน เป็นการทุจริตต่อจำเลยเพราะจำเลยจะต้องนำหลักฐานการลงเวลาทำงานในบัตรลงเวลาไปคิดคำนวณค่าจ้างค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งในการปฏิบัติงานของจำเลยอันเป็นความผิดอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
วันนัดพิจารณา ศาลสอบถามจำเลย จำเลยแถลงว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุทุจริตตอกบัตรลงเวลาทำงานเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้อ้างเหตุเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและจำเลยได้เตือนเป็นหนังสือไว้ ศาลแรงงานกลางจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า โจทก์กระทำทุจริตโดยการตอกบัตรลงเวลาทำงานแล้วไม่เข้าปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่ และค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของโจทก์มีเพียงใด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ไปที่ทำงานตอกบัตรลงเวลาทำงานเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2532 เวลา18 นาฬิกาเศษ แล้วมิได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ โดยออกจากที่ทำงานไปและมิได้กลับเข้าไปที่ทำงานอีก มิใช่เป็นการกระทำที่ส่อเจตนาทุจริตเพราะโจทก์ตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานตามความจริง และเมื่อโจทก์มิได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ก็มิได้มาตอกบัตรลงเวลาเลิกงานและยังได้ความว่า วันรุ่งขึ้นเมื่อโจทก์ไปทำงาน โจทก์ก็ได้ไปพบนายชัยศักดิ์ โกศินานนท์ และนายปฐม รตานนท์ ซึ่งเป็นผู้จัดการและรองผู้จัดการของจำเลย เพื่อขอเปลี่ยนวันที่ 10 กันยายน 2532เป็นวันหยุดของโจทก์แทน โดยอ้างว่าวันที่ 10 กันยายน 2532โจทก์ป่วยย่อมเล็งเห็นว่า โจทก์มิได้ประสงค์ที่จะเอาค่าจ้างจากจำเลยในวันที่โจทก์มิได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ แม้จำเลยจะไม่เชื่อว่าโจทก์ป่วย และไม่อนุญาตให้โจทก์ลาป่วยก็เป็นเพียงการขาดงานโดยที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าว และการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้เป็นเงิน 12,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 6,533 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์สรุปได้ว่าเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2532 โจทก์มาทำงานตอกบัตรลงเวลาทำงานแล้วเข้าทำงานเพียงครึ่งชั่วโมงก็ออกจากที่ทำงานไป และโจทก์ยังได้เซ็นชื่อในช่องเลิกงานของวันที่ 11 วันรุ่งขึ้นด้านท้าย เพื่อให้บุคคลอื่นตอกบัตรลงเวลาเลิกงานแทนโจทก์เพื่อให้เข้าใจว่าโจทก์มาทำงานตามปกติ และข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่เข้าทำงานหลังจากตอกบัตรลงเวลาทำงานแล้วเพราะโจทก์ป่วยก็ไม่อาจรับฟังได้เพราะในทางปฏิบัติแล้วเมื่อโจทก์ป่วยโจทก์มีหน้าที่ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาคือนายปฐม รตานนท์ ทราบในวันนั้นว่าโจทก์ป่วย เพื่อขอเปลี่ยนวันดังกล่าวเป็นวันหยุดแทน แต่โจทก์หาได้ทำเช่นนั้นไม่และการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นเพียงขาดงานโดยที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าวนั้นหากเป็นเช่นนี้พนักงานของจำเลยคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนกระทำอย่างโจทก์แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งไม่ผิด จำเลยอาจได้รับความเสียหายอย่างมาก และที่ศาลแรงงานกลางฟังว่า วันรุ่งขึ้นโจทก์ไปพบนายชัยศักดิ์ โกศินานนท์ ผู้จัดการ และนายปฐม รตานนท์ รองผู้จัดการเพื่อขอเปลี่ยนวันที่ 10 กันยายน 2532 เป็นวันหยุดแทน ซึ่งความจริงแล้วโจทก์ถูกเรียกไปพบนายชัยศักดิ์และนายปฐม เพื่อสอบถามเหตุใดจึงไม่มาทำงาน แต่โจทก์กลับพูดจาบ่ายเบี่ยงและขอเปลี่ยนวันดังกล่าวเป็นวันหยุดแทน ซึ่งการกระทำดังกล่าวของโจทก์ตั้งแต่ต้นถือได้ว่าโจทก์กระทำโดยทุจริตและเป็นความผิดร้ายแรงฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยตามมาตรา 47(1) (3) แห่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์นั้น ล้วนเป็นข้อที่โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาแล้วข้างต้น เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย.