คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตั๋วเครื่องบินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐและตามสัญญาจ้างระบุการจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ จำเลยจึงมีความผูกพันตามสัญญาต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้เงินที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่จำเลยอาจชำระเป็นเงินไทยก็ได้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิของลูกหนี้ได้โดยลำพังที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวเป็นเงินไทยจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการในการออกแบบระบบจ่ายไฟฟ้าและระบบท่อร้อยสายในโครงการก่อสร้างสนามบินระหว่างประเทศกรุงเทพแห่งที่สองซึ่งจำเลยและบริษัทในเครือเป็นคู่สัญญาอยู่กับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย โจทก์ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,600 ดอลลาร์สหรัฐโดยมีข้อตกลงในสัญญาให้จำเลยเป็นผู้จ่ายภาษีเงินได้ของโจทก์ทุกจำนวน จำเลยได้ออกเงินค่าเดินทางจากประเทศแอฟริกาใต้มายังประเทศไทยให้โจทก์และโจทก์มีสิทธิได้รับตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพ-เมืองโยฮานเนสเบร์ก เมื่อทำงานให้จำเลยทุก ๆ6 เดือน และมีสิทธิได้รับตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจเมื่อย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 31 มีนาคม2541 จำนวน 13,120 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าชดเชย 28,800 บาทดอลลาร์สหรัฐ ค่าตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจเดินทางกลับประเทศแอฟริกาใต้ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงความน่าเชื่อถือการขาดรายได้เป็นเวลา 6 เดือน จำนวน 57,600ดอลลาร์สหรัฐ ในการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนขอให้ใช้อัตราณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้แต่เพื่อประโยชน์ในการกำหนดทุนทรัพย์ในคดีโจทก์ขอใช้อัตราแลกเปลี่ยนกลาง ณ วันฟ้อง (วันที่ 20 มีนาคม 2541) 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 39.76 บาท ทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องมาในคดีนี้รวม 102,520ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 4,096,699.20 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยค่าตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจกรุงเทพเมืองโยฮานเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ โดยไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายและค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า การว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานมิใช่การจ้างแรงงาน จำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์2541 และไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยเลิกจ้างบริษัทหลุยส์ เบเยอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รับโจทก์เข้าทำงานทันที แสดงว่าโจทก์ไม่เสียหายต่อชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือและไม่ขาดรายได้ สัญญาจ้างเลิกกันแล้วทำให้ข้อตกลงเรื่องจำเลยเป็นฝ่ายจ่ายภาษีเงินได้ตกไป โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตั๋วเครื่องบิน 3,000ดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อตกลง และได้รับค่าชดเชย 28,800 ดอลลาร์สหรัฐสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,480 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 44,280 ดอลลาร์สหรัฐ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันฟ้อง1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 39.96 บาท ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 1,769,428.80 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จคำขออื่นให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตั๋วเครื่องบินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ มิได้ขอให้จำเลยชำระเป็นเงินตราไทยศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวเป็นเงินตราไทยหรือไม่ เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายที่จำเลยไม่สามารถยกขึ้นกล่าวในศาลแรงงานกลาง จำเลยจึงยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196บัญญัติว่า “ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้

การเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน”

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตั๋วเครื่องบินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐและตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.8 ระบุการจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ จำเลยจึงมีความผูกพันตามสัญญาต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้เงินที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ จำเลยอาจชำระเป็นเงินไทยก็ได้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 196 ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิของลูกหนี้ได้โดยลำพัง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน28,800 ดอลลาร์สหรัฐ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 12,480 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับจำนวน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวม 44,280 ดอลลาร์สหรัฐแต่ทั้งนี้โจทก์ไม่อาจรับชำระหนี้ได้เกิน 1,769,428.80 บาทตามอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share