คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9068/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2554 มาตรา 69 เป็นไปตามวิธีการและขั้นตอนการประชุมโดยปกติทั่วไป กฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดรูปแบบและข้อความของมติดังกล่าว มิได้กำหนดขั้นตอนให้ทำเป็นหนังสือแจ้งผู้ร้องเรียน ผู้เสียหาย หรือผู้ถูกกล่าวหา และมิได้กำหนดผลบังคับว่าหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้มีมติดังกล่าวอย่างชัดแจ้งแล้วผลจะเป็นอย่างไร จึงเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์ที่เคร่งครัดกับรูปแบบและวิธีการของการมีมติดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่รับไว้พิจารณาอยู่ก่อนแล้วตามกฎหมายเดิมคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (3) ดังนั้น แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติในภายหลังโดยเห็นชอบกับคณะอนุกรรมการไต่สวนว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็มีผลเท่ากับว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้มีการดำเนินการพิจารณาความผิดของจำเลยต่อไปตามมาตรา 69 ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 90 และ 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และ 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตน จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 6 กระทง รวมจำคุก 30 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เดิมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 301 (3) กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2550 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ถูกยกเลิกและให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 250 (3) กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไปร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวหรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือที่กระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเห็นสมควรดำเนินการด้วย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 302 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งกำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับได้ต่อไป และมาตรา 302 วรรคสาม กำหนดให้ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 นางสาวพูนสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน มีหนังสือร้องเรียนไปยังประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าจำเลยขณะนั้นเป็นรองผู้กำกับการกลุ่มงานสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดน่าน ข่มขู่เรียกเอาทรัพย์สินจากนางสาวรัตนาภรณ์ ผู้เสียหาย และนายเจริญ เพื่อแลกกับการไม่จับกุมผู้เสียหายและนายเจริญสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ จนผู้เสียหายและนายเจริญยินยอมจ่ายเงินให้จำเลย ตำแหน่งรองผู้กำกับการกลุ่มงานสืบสวนของจำเลยเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า วันที่ 7 เมษายน 2552 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช) มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีจำเลยถูกกล่าวหาตามคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานและทำการไต่สวนพยานบุคคลเรื่อยมา วันที่ 19 เมษายน 2554 มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ใช้บังคับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมาตรา 19 (4) ตามบทบัญญัติใหม่ดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่บุคคลตาม (2) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง หรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือที่กระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการด้วย ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 68 กำหนดว่า บรรดาการดำเนินการใด ๆ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะอนุกรรมการไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้เป็นอันใช้ได้ และมาตรา 69 กำหนดว่า บรรดาคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งต่ำกว่าระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไว้พิจารณาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ การดำเนินการต่อไปในคดีดังกล่าวให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เดือนสิงหาคม 2555 คณะอนุกรรมการไต่สวนมีความเห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และ 157 วันที่ 18 กันยายน 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนและให้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยต่อไป โดยคณะกรรมการป.ป.ช. มิได้มีมติโดยชัดแจ้งก่อนว่าให้มีการดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยความผิดของจำเลยต่อไปตามมาตรา 69 หรือไม่
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้มีมติไว้ชัดแจ้งก่อนว่าให้มีการดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยความผิดของจำเลยต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 69 นั้น ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า หากก่อนที่จะดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยความผิดของจำเลยต่อไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตามมาตรา 69 นอกจากมติดังกล่าวจะปรากฏในรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวิธีการและขั้นตอนการประชุมโดยปกติทั่วไปแล้ว กฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดรูปแบบและข้อความของมติดังกล่าว มิได้กำหนดขั้นตอนให้ทำเป็นหนังสือแจ้งผู้ร้องเรียน ผู้เสียหาย หรือผู้ถูกกล่าวหา และมิได้กำหนดผลบังคับว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้มีมติดังกล่าวอย่างชัดแจ้งแล้วผลจะเป็นอย่างไร จึงเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์ที่เคร่งครัดกับรูปแบบและวิธีการของการมีมติดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่รับไว้พิจารณาอยู่ก่อนแล้วตามกฎหมายเดิม คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (3) ดังนั้น แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติในภายหลังโดยเห็นชอบกับคณะอนุกรรมการไต่สวนว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็มีผลเท่ากับว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้มีการดำเนินการพิจารณาความผิดของจำเลยต่อไปตามมาตรา 69 ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบกับความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนและให้ส่งเรื่องให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยโดยถือเคร่งครัดว่าเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้มีมติดำเนินคดีจำเลยต่อไปเสียก่อน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจส่งคดีให้โจทก์ฟ้องนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังมิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปตามลำดับชั้นของศาล เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาในประเด็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ดังคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share