คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการเช่าตึกของกระทรวงการคลังจำเลยเป็นเพียงผู้อาศัยให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกพิพาทในชั้นแรกผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย ศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องออกจากตึกเช่าของโจทก์ซึ่งเช่าจากกระทรวงการคลังในฐานะเป็นบริวารของจำเลยแล้วต่อมาถ้าปรากฏว่าผู้ร้องได้เป็นผู้เช่าตึกรายนี้จากกระทรวงการคลังแล้ว ดังนี้ ถือว่าผู้ร้องมีอำนาจพิเศษในการที่จะอยู่ในที่ดินนั้นได้ โดยไม่อาศัยอำนาจของจำเลยแล้ว ก็เป็นอันนำเอาคำพิพากษานั้นมาบังคับผู้ร้องไม่ได้ต่อไป
การบังคับขับไล่บุคคลนอกคดีนั้น จะบังคับได้ก็เฉพาะที่เป็นบริวารของจำเลยและไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษได้ตามมาตรา 142(1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ถ้าผู้นั้นแสดงอำนาจพิเศษได้ว่าอยู่ในที่ดินโดยไม่ได้อาศัยอำนาจของจำเลยไม่ว่าในขณะใดแล้ว ก็จะนำเอาคำพิพากษานั้นมาบังคับผู้นั้นไม่ได้อีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าตึกจากกระทรวงการคลังและได้มอบให้จำเลยดูแลศึกและทรัพย์สินแทน บัดนี้จำเลยและบริวารขัดขวางไม่ให้โจทก์อาศัยอยู่ในตึกรายนี้ และส่งมอบตึกให้แก่โจทก์จึงขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์มีสิทธิในการเช่าตึกรายพิพาท และขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารกับเรียกค่าเสียหายจำเลยไม่ต่อสู้คดี และทำยอมกับโจทก์ว่า จำเลยและบริวารคือ นายชื้น พงษ์เกิดและนางถนอม พงษ์เกิดยอมออกจากที่เช่าภายใน 3 วัน ศาลพิพากษาตามยอม

นางถนอมยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับหมายบังคับคดีให้ออกจากที่รายนี้ แต่ผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ความจริงโจทก์ให้จำเลยเช่าช่วง แล้วจำเลยให้ผู้ร้องเช่าช่วงอีกต่อหนึ่ง ผู้ร้องได้เสียค่าเช่าให้กระทรวงการคลังโดยตรง และกระทรวงการคลังจะให้ผู้ร้องเป็นผู้เช่าต่อไป ขอศาลได้งดการบังคับคดีและไต่สวนมีคำสั่งตามรูปความ นางถนอมนายชื้นแถลงต่อศาลว่า การเช่าช่วงจากจำเลยนั้น โจทก์ไม่ได้รู้เห็น

ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องอยู่ในที่เช่า โดยอาศัยอำนาจจำเลยถือเป็นบริวารจำเลย ให้นายชื้น นางถนอมออกจากห้องเช่านี้ ต่อมานางถนอมยื่นคำร้องว่า บัดนี้นางถนอมได้เป็นผู้เช่าตึกจากกระทรวงการคลังแล้ว ขอทุเลาการบังคับไต่สวนแล้วเพิกถอนคำสั่งขับไล่ ศาลชั้นต้นสั่งว่าผู้ร้องต้องปฏิบัติตามหมายบังคับคดีของศาลก่อน จะมีทางเข้าอยู่ในที่นี้ได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องจะมาว่ากล่าวกันในคดีนี้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์กล่าวว่าคำร้องของผู้ร้องที่ว่าผู้ร้องเป็นผู้เช่าจากกระทรวงการคลัง ซึ่งฟ้องโจทก์เองก็รับว่า เป็นเจ้าของตึก ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทคดีนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ผู้ร้องไม่ได้เป็นคู่ความในคดีนี้ ฉะนั้นโดยปกติจะเอาคำพิพากษาบังคับตลอดไปถึงผู้ร้อง ย่อมไม่ได้แต่ที่กระทำได้ในคดีเช่นนี้ ก็โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) แต่ในมาตรา 142(1)นี้เอง ก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า ให้บังคับได้แต่เฉพาะบริวารของจำเลยที่อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษได้ และไม่ได้บอกว่าต้องแสดงอำนาจพิเศษเสียก่อนศาลบังคับให้ออกจากที่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในคดีนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องออกในฐานะบริวารจำเลยแล้วก็ดี ถ้าปรากฏต่อมาว่า ผู้ร้องมีอำนาจพิเศษในการที่จะอยู่ในที่ดินนั้นได้ โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจของจำเลยแล้ว ก็เป็นอันนำเอาคำพิพากษานั้นมาบังคับผู้ร้องไม่ได้ต่อไป

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำสั่งของศาลแพ่งลงวันที่ 27 ตุลาคม 2490 ให้ศาลแพ่งดำเนินการไต่สวน ตามคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันเดียวกันนี้ แล้วสั่งใหม่ตามข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

Share