คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 992/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า “T-TOUCH” แม้โจทก์จะแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษร “T” แต่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ไม่อาจใช้อักษรดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น มิได้ตัดอักษรดังกล่าวออกจากเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าวมีอักษร “T” อยู่หน้าคำว่า “TOUCH” โดยมีเครื่องหมายยัติภังค์คั่นและขนาดของตัวอักษรเท่ากัน อักษร “T” จึงไม่ใช่ส่วนปลีกย่อยของเครื่องหมาย การพิจารณารูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ต้องพิจารณาอักษรโรมันคำว่า “T-TOUCH” ทั้งคำ เมื่อเปรียบเทียบกับรูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นซึ่งเป็นอักษรโรมันคำว่า “TOUCH MAGAZINE” แล้วมีความแตกต่างกัน โดยคำว่า “MAGAZINE” มีขนาดเล็กจัดวางในแนวตั้งติดกับอักษร “H” โดยเน้นสาระสำคัญของคำว่า “TOUCH” แม้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์มีคำว่า “TOUCH” เช่นเดียวกัน แต่คำดังกล่าวเป็นคำในภาษาอังกฤษซึ่งปรากฏความหมายในพจนานุกรมและเป็นคำที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการได้เพราะมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองหากคำนั้นมิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง บุคคลที่นำคำดังกล่าวมาจดทะเบียนก่อนไม่มีสิทธิหวงกันมิให้บุคคลอื่นใช้คำดังกล่าวได้ เพียงแต่บุคคลที่จะใช้คำดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำให้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะแตกต่างออกไปจากเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ คำว่า “T-TOUCH” ของโจทก์จึงมีความแตกต่างจากคำว่า “TOUCH” ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สำหรับเสียงเรียกขานนั้น คำว่า “T-TOUCH” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ เป็นคำเดียวกันโดยออกเสียงเรียกขานเป็นสองพยางค์ว่า ที ทัช ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ออกเสียงเรียกขานเป็นสี่พยางค์ว่า ทัช แม็ก กา ซีน แม้อาจมีผู้ออกเสียงสั้นๆ เป็นพยางค์เดียวว่า ทัช ก็ยังคงแตกต่างจากเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ ประกอบกับโจทก์ประกอบธุรกิจด้านการเงินและการลงทุน การให้บริการข่าว ข้อมูล คำแนะนำ บทวิจารณ์ และบทวิเคราะห์ ย่อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ กลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องจึงเป็นผู้ประกอบอาชีพด้านการเงินและการลงทุน หรือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งช่องทางการเผยแพร่หรือให้บริการของโจทก์กระทำในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์มิใช่หนังสือ ส่วนลักษณะการประกอบธุรกิจของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วเป็นธุรกิจบันเทิง กลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องได้แก่บุคคลทั่วไปที่รับชม รับฟังรายการ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่บุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนจัดขึ้นบริเวณสยามสแควร์ รวมถึงผู้อ่าน “TOUCH MAGAZINE” ดังนั้นกลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับบริการของโจทก์ และของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียน จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และแม้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 16 เช่นเดียวกับบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียน แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าของโจทก์แล้ว สินค้าของโจทก์เป็นสิ่งพิมพ์ เอกสาร และจดหมายข่าวที่จำกัดเฉพาะเรื่องการเงินเท่านั้น เมื่อกลุ่มผู้บริโภคของโจทก์เป็นผู้ประกอบอาชีพด้านการเงินและการลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับผู้บริโภคของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียน ดังนั้น ผู้บริโภคหรือสาธารณชนที่เกี่ยวข้องย่อมสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์และของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียนได้โดยง่าย เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือบริการหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/4462 และที่ พณ 0704/1098 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 55/2557 และที่ 160/2557 ขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 788196 และเครื่องหมายบริการตามคำขอเลขที่ 788199 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนแล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าและพึงรับจดทะเบียนได้ และให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป หากจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้า สิ่งพิมพ์ประกาศโฆษณา สิ่งพิมพ์ที่ออกตามกำหนดเวลา สิ่งพิมพ์ที่เป็นรายงาน สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการเงิน เอกสารทางการเงิน จดหมายข่าวเกี่ยวกับการเงิน ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เลขที่ 788196 และโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 41 รายการบริการ การจัดหาข่าว การรายงานข่าว ให้บริการห้องสมุดโดยทางฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลที่สกัดมาจากหน้าหนังสือพิมพ์ การให้ข้อมูลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน จัดพิมพ์บทวิจารณ์และบทวิเคราะห์ จัดพิมพ์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์และวารสารออนไลน์ จัดพิมพ์สิ่งพิมพ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ การจัดให้มีสิ่งพิมพ์บนเว็บ การจัดเตรียมโปรแกรมข่าวเพื่อการแพร่ภาพกระจายเสียง ให้บริการบล็อกออนไลน์ การให้คำแนะนำ ข้อมูล คำปรึกษาเกี่ยวกับการให้ความบันเทิงและการศึกษา ให้การศึกษา ให้การฝึกอบรม การจัดและดำเนินการประชุม การอภิปราย การสัมมนา การประชุมทางวิชาการและการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ คำขอเลขที่ 788199 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าว มีบางส่วนที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้โจทก์แสดงเจตนาว่าจะไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน “T” และเครื่องหมายที่ยื่นขอจดทะเบียนต้องจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ตามสำเนาหนังสือสำนักเครื่องหมายการค้า ที่ พณ 0704/26895 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2554 และที่ พณ 0704/6000 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ตามลำดับ โจทก์ได้แสดงเจตนาว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน “T” และขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งว่าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ตามสำเนาหนังสือสำนักเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/4462 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2554 และตามหนังสือสำนักเครื่องหมายการค้า ที่ พณ 0704/1098 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ตามลำดับ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ โดยเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์คำว่ากับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วคำว่าตามทะเบียนเลขที่ ค.338103 (คำขอเลขที่ 771724) แล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์มีภาคส่วนคำว่า “TOUCH” เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว แม้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์จะมีภาคส่วนอักษร “T” อันมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมายประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วจะมีภาคส่วนคำว่า “MAGAZINE” อันมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมายประกอบอยู่ด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า ที ทัช หรือ ทัช ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วอาจเรียกขานได้ว่า ทัช แมกกาซีน หรือ ทัช นับว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกันกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ส่วนเครื่องหมายบริการของโจทก์นั้น แม้จะใช้กับบริการจำพวกที่ 41 รายการบริการ การจัดหาข่าว ฯลฯ ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วใช้กับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้าหนังสือ ซึ่งเป็นบริการและสินค้าต่างจำพวกกันก็ตาม แต่รายการบริการและรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ที่ 55/2557 และที่ 160/2557 ตามลำดับ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า “T-TOUCH” แม้โจทก์จะแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษร “T” แต่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ไม่อาจใช้อักษรดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น มิได้ตัดอักษรดังกล่าวออกจากเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าวมีอักษร “T” อยู่หน้าคำว่า “TOUCH” โดยมีเครื่องหมายยัติภังค์คั่นขนาดของตัวอักษรเท่ากัน ดังนั้น อักษร “T” จึงไม่ใช่ส่วนปลีกย่อยของเครื่องหมาย และการพิจารณารูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ต้องพิจารณาอักษรโรมันคำว่า “T-TOUCH” ทั้งคำ เมื่อเปรียบเทียบกับรูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นซึ่งเป็นอักษรโรมันคำว่า “TOUCH MAGAZINE” แล้วมีความแตกต่างกัน โดยคำว่า “MAGAZINE” มีขนาดเล็กจัดวางในแนวตั้งติดกับอักษร “H” โดยเน้นสาระสำคัญของคำว่า “TOUCH” แม้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์มีคำว่า “TOUCH” เช่นเดียวกัน แต่คำดังกล่าวเป็นคำในภาษาอังกฤษซึ่งปรากฏความหมายในพจนานุกรมและเป็นคำที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการได้เพราะมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองหากคำนั้นมิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง บุคคลที่นำคำดังกล่าวมาจดทะเบียนก่อนไม่มีสิทธิหวงกันมิให้บุคคลอื่นใช้คำดังกล่าวได้ เพียงแต่บุคคลที่จะใช้คำดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำให้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะแตกต่างออกไปจากเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ ในกรณีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าคำว่า “T-TOUCH” ของโจทก์มีความแตกต่างจากคำว่า “TOUCH” ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สำหรับเสียงเรียกขานนั้น คำว่า “T-TOUCH” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ เป็นคำเดียวกันโดยออกเสียงเรียกขานเป็นสองพยางค์ว่า ที ทัช ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ออกเสียงเรียกขานเป็นสี่พยางค์ว่า ทัช แม็ก กา ซีน แม้อาจมีผู้ออกเสียงสั้น ๆ เป็นพยางค์เดียวว่า ทัช ก็ยังคงแตกต่างจากเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาช่องทางการจำหน่ายสินค้าหรือการให้บริการแล้ว ได้ความจากนายกฤชวัชร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า ผู้ได้รับการจดทะเบียนคือ บริษัทเซ็นเตอร์พ้อยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ประกอบธุรกิจด้านสื่อบันเทิง เป็นผู้ผลิตรายการ (TV Production House) โดยผลิตรายการป้อนให้แก่ “Shaker Screen” ซึ่งเผยแพร่ทางทีวีจอใหญ่กลางสยามสแควร์ และผลิตรายการเสียงตามสายในสยามสแควร์ “S.O.S Radio” หรือ “Sound of Siam Square” นอกจากนี้ยังเป็นผู้จัดกิจกรรมในพื้นที่ “The Center Point of Siam Square” ส่วนโจทก์เป็นบริษัทจัดการกองทุนเพื่อการลงทุนแห่งรัฐบาลสาธารณรัฐสิงคโปร์ ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทอาทิ ธนาคารดีบีเอส สิงคโปร์ สิงคโปร์ เทเลคอมมูนิเคชั่นส์ (สิงค์ เทล) และกิจการอื่น ๆ อีกมากทั้งในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และต่างประเทศ รวมทั้งถือหุ้นในบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รายการสินค้าและบริการของโจทก์เกี่ยวข้องกับเอกสารทางการเงินหรือการรายงานโดยเฉพาะ อันเนื่องมาจากธุรกิจหลักของโจทก์เกี่ยวข้องกับการเงินและการธนาคารเป็นหลัก ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วปรากฏว่า จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 16 รายการสินค้า หนังสือ เพียงรายการเดียว ข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ตามที่พยานโจทก์เบิกความ ประกอบกับเมื่อพิจารณาประกอบรายการบริการตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ เลขที่ 788199 ซึ่งโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 41 รายการบริการเช่น การจัดหาข่าว การรายงานข่าว การให้ข้อมูลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน จัดพิมพ์บทวิจารณ์และบทวิเคราะห์ จัดพิมพ์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์และวารสารออนไลน์ จัดให้มีสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ทางออนไลน์ (ไม่สามารถดาวน์โหลดได้) หรือจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เห็นได้ว่าโจทก์ประกอบธุรกิจด้านการเงินและการลงทุน ดังนั้นการให้บริการข่าว ข้อมูล คำแนะนำ บทวิจารณ์ และบทวิเคราะห์ ย่อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ กลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องจึงเป็นผู้ประกอบอาชีพด้านการเงินและการลงทุน หรือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งช่องทางการเผยแพร่หรือให้บริการของโจทก์กระทำในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์มิใช่หนังสือ ส่วนลักษณะการประกอบธุรกิจของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วเป็นธุรกิจบันเทิง กลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องได้แก่บุคคลทั่วไปที่รับชม รับฟังรายการ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่บุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนจัดขึ้นบริเวณสยามสแควร์ รวมถึงผู้อ่าน “TOUCH MAGAZINE” ดังนั้นกลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับบริการของโจทก์ และของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียน จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ส่วนการที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้า สิ่งพิมพ์ประกาศโฆษณา สิ่งพิมพ์ที่ออกตามกำหนดเวลา สิ่งพิมพ์ที่เป็นรายงาน สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการเงิน เอกสารทางการเงิน จดหมายข่าวเกี่ยวกับการเงินนั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 โจทก์ยื่นขอแก้ไขรายการสินค้าเป็น สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการเงิน เอกสารทางการเงิน จดหมายข่าวเกี่ยวกับการเงิน ดังนั้นแม้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 16 เช่นเดียวกับบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียน แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าของโจทก์แล้ว สินค้าของโจทก์เป็นสิ่งพิมพ์ เอกสาร และจดหมายข่าวที่จำกัดเฉพาะเรื่องการเงินเท่านั้น เมื่อกลุ่มผู้บริโภคของโจทก์เป็นผู้ประกอบอาชีพด้านการเงินและการลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับผู้บริโภคของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียน ดังนั้น ผู้บริโภคหรือสาธารณชนที่เกี่ยวข้องย่อมสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์และของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียนได้โดยง่าย เมื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์มีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภคและช่องทางการจำหน่ายหรือการให้บริการของโจทก์แตกต่างจากของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือบริการหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 13 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือสำนักเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/4462 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2554 และที่ พณ 0704/1098 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 กับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 55/2557 และที่ 160/2557 ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 788196 และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเลขที่ 788199 ของโจทก์ต่อไป คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share