แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(1) และมาตรา 11 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ข้อ 4ข้อ 25 ข้อ 26และข้อ 28 หมายความว่า ถ้ารัฐวิสาหกิจสั่งให้พนักงานทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราหนึ่งเท่าครึ่งหรือถ้าสั่งให้ทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราสามเท่าของเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน แต่ถ้างานที่ทำเกินเวลานั้นเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 28 พนักงานจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดเว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน
รัฐวิสาหกิจจำเลยกำหนดให้พนักงานทำงานปกติสัปดาห์ละ 6 วันเวลาทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง รวมแล้วสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ไม่เกินกำหนดเวลาทำงานปกติตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ข้อ 4 เมื่อโจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงาน จึงถือเป็นการทำงานล่วงเวลา แต่งานขับรถยนต์โดยสารและเก็บค่าโดยสารที่โจทก์ทำนั้นเป็นงานขนส่งโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 28แม้จำเลยได้ตกลงให้เงินส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารแก่พนักงานที่ทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมงแต่ข้อตกลงนี้ก็มิใช่เป็นการตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 28 ตอนท้ายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาจากจำเลย
ย่อยาว
คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 7
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2528 วันที่ 28 มีนาคม 2537 วันที่ 29 มีนาคม 2537วันที่ 30 มิถุนายน 2537 ปี 2539 วันที่ 8 สิงหาคม 2539 และวันที่ 30 กรกฎาคม2540 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 277 บาท 194 บาท 258 บาท 267 บาท222 บาทและ 213 บาทตามลำดับ ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2539 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2541 โจทก์ทั้งเจ็ดทำงานเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยโจทก์ที่ 1ทำงานล่วงเวลาจำนวน 1,137 ชั่วโมง เป็นค่าล่วงเวลาจำนวน 59,052.93 บาทโจทก์ที่ 2 ทำงานล่วงเวลาจำนวน 1,000 ชั่วโมง เป็นค่าล่วงเวลาจำนวน36,375 บาท โจทก์ที่ 3 ทำงานล่วงเวลาจำนวน 960 ชั่วโมง เป็นค่าล่วงเวลาจำนวน 46,440 บาท โจทก์ที่ 4 ทำงานล่วงเวลาจำนวน 2,880 ชั่วโมง เป็นค่าล่วงเวลาจำนวน 144,180 บาท โจทก์ที่ 5 ทำงานล่วงเวลาจำนวน960 ชั่วโมง เป็นค่าล่วงเวลาจำนวน 39,960 บาท โจทก์ที่ 6 ทำงานล่วงเวลาจำนวน 960 ชั่วโมง เป็นค่าล่วงเวลาจำนวน 39,960 บาท และโจทก์ที่ 7ทำงานล่วงเวลาจำนวน 1,395 ชั่วโมง เป็นค่าล่วงเวลาจำนวน 55,712.81 บาทจำเลยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้งเจ็ด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 59,052.93 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 36,375 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 46,440 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 144,180 บาท โจทก์ที่ 5จำนวน 39,960 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 39,960 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน55,712.81 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนให้การว่า โจทก์ที่ 7 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 แต่ฟ้องเรียกเงินค่าล่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 26ธันวาคม 2539 ก่อนเป็นลูกจ้างจำเลยจึงไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้แสดงให้เห็นว่านำเงินค่าจ้างมาคิดคำนวณเป็นค่าล่วงเวลาได้อย่างไรซึ่งค่าจ้างแต่ละปีมีจำนวนไม่เท่ากัน โจทก์ทั้งเจ็ดทำหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารและเก็บค่าโดยสารประจำวันซึ่งเป็นงานบริการสาธารณะ ลักษณะเป็นงานขนส่งจำเป็นต้องทำติดต่อกันไปไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25 และ 26(2)ของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 28 ออกตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาเพราะจำเลยไม่ได้กำหนดจ่ายค่าล่วงเวลาไว้เป็นสภาพการจ้างและจำเลยได้จ่ายเงินส่วนแบ่งจากเงินค่าโดยสารประจำวันให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดทดแทนเงินค่าล่วงเวลา ซึ่งคำนวณจ่ายให้แต่ละวันมีจำนวนสูงกว่าเงินค่าล่วงเวลาที่โจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาเมื่อพ้นกำหนด2 ปี คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลยได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน โดยโจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 ทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ โจทก์ที่ 2 ทำงานตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสารรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ โจทก์ทั้งเจ็ดทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง ตามคำสั่งจำเลยที่ 2343/2524 เอกสารหมาย จล.3 หากทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมงจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากรายได้ค่าโดยสารตามอัตราที่กำหนดไว้ในคำสั่งจำเลยที่ 213/2525 เอกสารหมาย จล.1 และคำสั่งจำเลยที่ 634/2535 เอกสารหมายจล.2 โจทก์ทั้งเจ็ดได้ทำงานและได้รับค่าจ้างปกติและเงินได้จากส่วนแบ่งค่าโดยสารตามตารางการทำงานและการจ่ายเงินค่าจ้างในบัญชีเอกสารหมายจล.4 และวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ทำงานในหน้าที่พนักงานขับรถยนต์โดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสารรถยนต์โดยสารประจำทางลักษณะเป็นงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 28(2) ของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกตามความในมาตรา 11(1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยมีข้อตกลงจ่ายเงินจากส่วนแบ่งค่าโดยสารแก่พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารตามคำสั่งจำเลยที่ 213/2525 และที่ 634/2535เอกสารหมาย จล.1 และ จล.2 ซึ่งถือเป็นการจ่ายค่าล่วงเวลาและโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าโดยสารตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาจากจำเลยอีก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดเพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลย ทำงานในหน้าที่พนักงานขับรถยนต์โดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสารรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศอันเป็นงานขนส่งมีเวลาทำงานปกติวันละ8 ชั่วโมงหากทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง จะได้รับเงินส่วนแบ่งจากรายได้ค่าโดยสารตามอัตราที่กำหนดไว้ในคำสั่งจำเลยที่ 213/2525 เอกสารหมาย จล.1และคำสั่งจำเลยที่ 634/2535 เอกสารหมาย จล.2 โจทก์ทั้งเจ็ดได้ทำงานและได้รับค่าจ้างปกติและเงินได้จากส่วนแบ่งค่าโดยสารตามตารางการทำงานและการจ่ายค่าจ้างในบัญชีเอกสารหมาย จล.4 โดยโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าโดยสารตามข้อตกลงดังกล่าวจากจำเลยไปครบถ้วนแล้ว เห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(1)และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ข้อ 4 กำหนดว่า “ให้รัฐวิสาหกิจประกาศกำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานไม่เกินสัปดาห์ละสี่สิบแปดชั่วโมง” ข้อ 25 กำหนดว่า “ถ้ารัฐวิสาหกิจให้พนักงานทำงานเกินเวลาทำงานปกติที่รัฐวิสาหกิจประกาศกำหนดตามข้อ 4 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน” ข้อ 26 กำหนดว่า “ถ้ารัฐวิสาหกิจให้พนักงานทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานในอัตราสามเท่าของเงินเดือนค่าจ้างในวันทำงานสำหรับจำนวนชั่วโมงที่ทำงานปกติ” และข้อ 28 กำหนดว่า “พนักงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25และข้อ 26
(1) …
(2) งานขนส่ง
ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน”ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว หมายความว่าถ้ารัฐวิสาหกิจสั่งให้พนักงานทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราหนึ่งเท่าครึ่ง หรือถ้าสั่งให้ทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราสามเท่าของเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกินแต่ถ้างานที่ทำเกินเวลานั้นเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 28 พนักงานจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานทำงานปกติสัปดาห์ละ 6 วัน เวลาทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง รวมแล้วสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ไม่เกินกำหนดเวลาทำงานปกติตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 4 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานดังรายละเอียดตามตารางการทำงานและจ่ายค่าจ้างเอกสารหมาย จล.4 จึงถือเป็นการทำงานล่วงเวลาแต่งานขับรถยนต์โดยสารและเก็บค่าโดยสารที่โจทก์ทั้งเจ็ดทำนั้นเป็นงานขนส่งโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ข้อ 28 แม้จำเลยได้ตกลงให้เงินส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารแก่พนักงานที่ทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ตามคำสั่งจำเลยที่ 213/2525 เอกสารหมาย จล.1และคำสั่งจำเลยที่ 634/2535 เอกสารหมาย จล.2 แต่ข้อตกลงนี้ก็มิใช่เป็นการตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งเจ็ด อันจะทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 28 ตอนท้ายดังกล่าว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาตามฟ้องจากจำเลย
พิพากษายืน