แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา 1565 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือมารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย และบทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296 โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522
การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจำนวน 2,358,010 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้แก่โจทก์จำนวน 356,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสามคนแก่โจทก์จำนวน 178,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเคยเป็นภริยาและสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน ต่อมาจำเลยได้ฟ้องโจทก์ขอหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ขณะนั้นบุตรทั้งสามยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า มาตรา 1598/38 บัญญัติให้สิทธิบุตรฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาได้โดยจะต้องให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา 1562 บิดาหรือมารดาไม่สามารถฟ้องเรียกเอาจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วยตนเองนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 บัญญัติว่า “ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่าง… บิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ…” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น แต่สำหรับการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น มีบทบัญญัติมาตรา 1565 บัญญัติไว้เป็นกรณีเฉพาะว่า นอกจากบุตรจะให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 ได้แล้ว ยังกำหนดให้บิดาหรือมารดาก็สามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวเองได้ด้วย นอกจากนี้ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าบิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันเป็นลูกหนี้ร่วมกันซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296 และแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าโจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้ว โดยตกลงกันให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของโจทก์ เมื่อมิได้ตกลงกันว่าโจทก์จะเป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลยเพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229 (3) ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า อำนาจปกครองของโจทก์จำเลยย่อมหมดสิ้นลงเมื่อบุตรทั้งสามบรรลุนิติภาวะ ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสามหลังจากที่บุตรทั้งสามบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในระหว่างผู้เยาว์กับผู้ใช้อำนาจปกครอง เมื่อฟ้องเกินกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่อำนาจปกครองสิ้นไป คดีย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1581 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคแรก บัญญัติให้บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ฉะนั้น หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จึงย่อมมีอยู่แก่บิดามารดาตลอดไป จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ และถือว่าบิดามารดาเป็นลูกหนี้ร่วมกันซึ่งต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งอาจกำหนดโดยนิติกรรมสัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจึงเป็นการฟ้องเรียกเอาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นที่บุตรผู้เยาว์จะพึงได้รับจากบิดามารดาเพื่อการเลี้ยงชีพให้บุตรสามารถมีชีวิตดำรงอยู่ได้ตลอดไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ และรวมถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรผู้เยาว์ด้วยซึ่งมีอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไปเพียงฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ตนได้ชำระเงินไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12 กรณีมิใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในระหว่างผู้เยาว์กับผู้ใช้อำนาจปกครอง ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1581 และแม้จะปรากฏว่าโจทก์ได้เคยฟ้องจำเลยเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรส่วนนี้มาแล้ว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2537 แต่ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2538 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องของโจทก์และมีคำสั่งเป็นไม่รับฟ้องโจทก์ เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว แต่ปรากฏว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดตามมาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์เพิ่งมายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2539 กรณีจึงต้องนับอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่ละคนต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันฟ้อง ทั้งนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ได้ชำระไปก่อนวันที่ 30 พฤษภาคม 2534 ซึ่งเกินกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไปอันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จนถึงวันฟ้อง สิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรของโจทก์ในส่วนดังกล่าวย่อมเป็นอันขาดอายุความตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจำนวน 76,602 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์