แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ทำข้อตกลงในบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี แต่ลักษณะของเอกสารและข้อความเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดทางอาญาว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จริง โดยระบุความเสียหายที่ยินดีจะซ่อมแซมรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษในการที่พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับต่อไปเท่านั้น รวมทั้งความยินยอมของจำเลยที่ 1 ที่จะซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระและวิธีการชำระตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอน อันจะทำให้ปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ ต่อกันอีก รวมทั้งยังไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ข้อตกลงรายงานประจำวันดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถกระบะไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ 2 ขับ ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นฝ่ายประมาท ตกลงจะซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ให้อยู่ในสภาพปกติและยอมให้พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับ แต่จำเลยที่ 1 ไม่จัดการซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ให้ตามข้อตกลง โจทก์ทั้งสองจึงนำรถไปซ่อมเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 29,331 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 29,331 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่จำเลยที่ 1 ตกลงซ่อมรถให้โจทก์ที่ 2 ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับไป โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเอามูลหนี้ละเมิดมาฟ้องได้อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่ารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ปรากฏข้อตกลงในเอกสารฉบับดังกล่าวว่า บัดนี้คู่กรณีมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อบันทึกเกี่ยวกับค่าเสียหาย ข้อ 1 นายสมพงษ์ยินยอมซ่อมแซมรถยนต์เก๋งทะเบียน ข – 1158 เชียงราย ของนางเกศราให้อยู่ในสภาพปกติโดยจะเปลี่ยนประตูหน้าและประตูหลังขวา กระจกมองข้างขวารวมทั้งคิ้วด้านขวา ส่วนที่เหลือหากซ่อมแซมได้จะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปกติ ข้อ 2. นางเกศราได้รับทราบข้อเสนอของนายสมพงษ์แล้วยินยอมในข้อเสนอทุกประการ เห็นว่า ในประการแรก ลักษณะของเอกสารตลอดจนข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในทางอาญาว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จริง โดยระบุรายละเอียดของความเสียหายที่ยินยอมซ่อมแซมให้ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นเหตุบรรเทาโทษในการที่พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับต่อไปเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากข้อความในเอกสารฉบับดังกล่าวต่อไปว่า ร้อยตำรวจเอกมานพ ขัดชา ร้อยเวรได้แจ้งข้อกล่าวหาให้นายสมพงษ์ทราบว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถผู้อื่นได้รับความเสียหาย นายสมพงษ์ได้ให้การรับสารภาพโดยตลอดข้อกล่าวหาและยินยอมให้ทำการเปรียบเทียบปรับ นางเกศรายินยอมให้เปรียบเทียบปรับ จึงได้ทำการเปรียบเทียบปรับนายสมพงษ์เป็นเงินจำนวน 400 บาท ประการต่อมาความยินยอมของจำเลยที่ 1 ข้างต้นไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระและวิธีการชำระตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอน อันจะทำให้ปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ ต่อกันอีก ทั้งนี้เพราะยังมีข้อความว่า ส่วนที่เหลือหากซ่อมแซมได้จะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปกติ รวมอยู่อีกส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้แล้วประการสำคัญก็คือข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ข้อตกลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน