คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์โดยมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 3 ปี หลังจากนั้นโจทก์จึงจะมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ถ้าจำเลยผิดนัดเมื่อใดให้สิทธิโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้น 3 ปี โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 13.50 ต่อปี เมื่อจำเลยผิดนัดซึ่งเป็นเวลา 1 ปีเศษ นับแต่วันทำสัญญากู้เงินอันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงิน ซึ่งหากจำเลยไม่ผิดนัด โจทก์ยังไม่มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในขณะนั้นได้ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น จึงมิใช่เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินอันเป็นดอกผลนิตินัยตามปกติ แต่มีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องดอกเบี้ยโดยพิเคราะห์จากเอกสารที่โจทก์ส่งเป็นพยาน แล้วเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับจึงเป็นการวินิจฉัยอยู่ในประเด็นตามคำฟ้องหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 701,637.37 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงิน 656,662.35 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ และให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 1,182.35 บาท ทุกๆ สามปีต่อครั้งตลอดไป โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2548 จนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 667,001.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 656,662.35 บาท นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนองที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยไปตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1,182.35 บาท ทุกๆ สามปี นับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าสัญญาจำนองจะระงับสิ้น หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 37736 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 จำเลยกู้เงินโจทก์ 657,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ย 3 ปีแรก ในอัตราคงที่ โดยปีที่ 1 อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 2 และปีที่ 3 อัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี ต่อจากนั้นยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราที่กำหนดไว้ได้ตลอดอายุสัญญากู้ หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามกำหนดยอมให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าปรากฏตามสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน จำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2547 ภายหลังจากที่จำเลยผิดนัดแล้ว โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นลดดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2547 โดยถือว่าเป็นเบี้ยปรับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงที่จำเลยยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดในกรณีผิดนัดไม่เข้าข้อกฎหมายในเรื่องเบี้ยปรับ เพราะสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้ระบุว่าหากจำเลยผิดสัญญาจำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายหรือจะให้เบี้ยปรับแก่โจทก์ ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดตามประกาศของโจทก์ที่กำหนดไว้จำนวนแน่นอน มิได้เป็นอัตราที่โจทก์จะปรับหรือคิดได้ตามความต้องการของโจทก์แต่อย่างเดียว การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวของโจทก์อาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงการคลังที่กำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี เข้าลักษณะเป็นดอกผลนิตินัย ไม่ได้เป็นการคิดค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญากู้เงินประกอบบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน ข้อ 1 ระบุว่า ในระยะ 3 ปีแรกนับแต่วันทำสัญญากู้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราตามที่กำหนดไว้ โดยปีที่ 1 คิดอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 2 และปีที่ 3 อัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี หลังจากนั้นโจทก์จึงจะมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ถ้าจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใด ตามสัญญากู้เงิน ข้อ 3 ให้สิทธิโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้น 3 ปี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากจำเลยผิดนัดแล้วโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 13.50 ต่อปี ในวันที่ 31 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นระยะเวลา 1 ปีเศษ นับแต่วันทำสัญญากู้เงิน อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงิน ข้อ 3 ซึ่งหากจำเลยไม่ผิดนัด โจทก์ยังไม่มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในขณะนั้นได้ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินอันเป็นดอกผลนิตินัยตามปกติ แต่มีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ อันเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2547 เป็นเบี้ยปรับซึ่งกำหนดไว้สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่งแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในเรื่องดอกเบี้ยปรับเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเนื่องจากจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู่คดีหรือนำสืบพยานหลักฐานหักล้างนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การก็ตาม แต่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวโดยพิเคราะห์จากเอกสารที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยาน แล้วเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับ จึงเป็นการวินิจฉัยอยู่ในประเด็นตามคำฟ้อง หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแต่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนองที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยไปตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1,182.35 บาท ทุกๆ สามปี นับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปตามคำขอของโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ข้อ 5 กำหนดว่า หากจำเลยไม่จัดการเอาประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนองและโจทก์ได้จัดการเอาประกันภัยเอง จำเลยยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้จ่ายแทนไปมาชำระจนครบถ้วนภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่โจทก์แจ้งให้ทราบ ถ้าผิดนัดไม่ชำระ จำเลยยินยอมให้ทบเงินค่าเบี้ยประกันภัยรวมเข้ากับยอดเงินที่ค้างชำระเงินและยินยอมให้คิดดอกเบี้ย จึงเห็นได้ว่าหากโจทก์ยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันอัคคีภัยแทนจำเลย จำเลยก็ยังไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยคืนแก่โจทก์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยนับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปทุกๆ สามปี จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในหนี้อนาคตที่ยังมิได้เกิดมีขึ้น และขณะฟ้องยังไม่มีหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยจำนวน 1,182.35 บาท ทุกๆ สามปีต่อครั้ง นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2548 จนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share