แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เพียงแต่นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์เพื่อจะใช้กุญแจผีไขรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยยังไม่ได้เอารถออกไป เป็นการลงมือลักทรัพย์แล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานตำรวจและผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุก่อน ทำให้จำเลยที่ 1 เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปไม่ได้ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ในเวลากลางคืน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 138, 335, 371 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์จำคุก 4 ปี ฐานพาอาวุธติดตัวไปในทางสาธารณะ ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ 100 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานลักทรัพย์จำคุก 4 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 จำคุก 2 ปี 6 เดือน รวมกับโทษฐานพาอาวุธตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 100 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนหรือไม่ โจทก์มีนายพิษณุ เบิกความว่า พยานเห็นจำเลยที่ 1 ใช้ลูกกุญแจไขกุญแจรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ข้างถนนเพชรเกษม บริเวณหน้างานแสดงสินค้าใกล้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาอำเภอทุ่งสง เมื่อจำเลยที่ 1 ไขกุญแจรถจักรยานยนต์คันใดไม่ออกก็จะเดินไขกุญแจรถจักรยานยนต์คันต่อไปเรื่อย ๆ ประมาณ 10 กว่าคัน พยานจึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ สักครู่หนึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุขณะที่จำเลยที่ 1 นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ของนายประสงค์ ผู้เสียหาย เพื่อจะใช้ลูกกุญแจไขกุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นเจ้าพนักงานตำรวจจึงขว้างลูกกุญแจทิ้งไป
เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เดินไขกุญแจรถจักรยานยนต์ไปเรื่อยๆ ประมาณ 10 กว่าคันจนกว่าจะไขกุญแจรถได้ และการที่จำเลยที่ 1 ขึ้นไปนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเพื่อจะไขกุญแจรถนั้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดสำเร็จแล้วหรือไม่ เห็นว่า ประจักษ์พยานโจทก์ปากดังกล่าวข้างต้นเห็นเพียงจำเลยที่ 1 นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแต่ไม่ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไปจากบริเวณที่ผู้เสียหายจอดรถไว้ ส่วนที่ผู้เสียหายเบิกความว่า รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไปจากบริเวณที่ผู้เสียหายนำรถไปจอดไว้ประมาณ 10 เมตร นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่า ผู้เสียหายไม่เห็นเหตุการณ์ขณะมีการเคลื่อนย้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกไป จึงเป็นเพียงการคาดคะเนของผู้เสียหายว่าน่าจะมีการเคลื่อนย้ายรถจักรยานยนต์ของตนไปจากบริเวณที่จอดไว้ หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเป็นคนอื่นเคลื่อนย้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจากจุดที่จอดไว้เพราะผู้เสียหายจอดกีดขวางทางก็เป็นได้ และไม่มีพยานโจทก์ปากใดเห็นจำเลยที่ 1 จูงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไปจากบริเวณที่ผู้เสียหายจอดไว้ ข้อเท็จจริงในคดีรับฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายยังไม่ได้เอารถออก จึงเป็นการลงมือลักทรัพย์แล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานตำรวจและผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุเสียก่อน ทำให้จำเลยที่ 1 เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปไม่ได้ จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีเพียงคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ที่ให้การพาดพิงถึงจำเลยที่ 2 ว่าเมื่อไขกุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้ก็จะให้จำเลยที่ 2 ขับไป ตามบันทึกการจับกุมแต่บันทึกการจับกุมเป็นเพียงพยานบอกเล่า มีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อย และที่จำเลยที่ 1ให้การในชั้นจับกุมพาดพิงถึงจำเลยที่ 2 มีลักษณะเป็นการซัดทอด จึงเป็นการซัดทอดจำเลยในคดีเดียวกัน ต้องฟังอย่างระมัดระวัง การที่มีข้อเท็จจริงเพียงว่าจำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 มาเที่ยวงานแสดงสินค้าด้วยกัน และไม่มีพยานโจทก์ปากใดเห็นจำเลยที่ 2 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งพอที่จะรับฟังได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำโดยดูต้นทางให้จำเลยที่ 1 ทำการลักทรัพย์ ประกอบกับจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน