คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15717/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาบุกรุกเข้าไปทำร้ายคนในบ้านผู้เสียหาย เมื่อไม่พบก็นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปเผา มิใช่มุ่งเอาประโยชน์จากทรัพย์จึงไม่ใช่เอาทรัพย์ไปโดยเจตนาทุจริต ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาลักทรัพย์ของผู้เสียหาย การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 กับพวกอีกประมาณ 10 คน บุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายในเวลากลางคืนและใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าจะทำร้ายผู้เสียหายและกลับออกไปพร้อมนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปด้วยกัน เป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) (3) แต่เนื่องจากโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 364 จึงมิอาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฐานความผิดดังกล่าวซึ่งมีโทษหนักกว่าที่โจทก์ขอและถือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ จึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 เท่านั้น
จำเลยที่ 2 กับพวกเผารถจักรยานยนต์เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปจะทำร้ายบุคคลที่อยู่ในบ้านผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน แต่ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานปล้นทรัพย์และฐานทำให้เสียทรัพย์ มิได้แตกต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานความผิดที่ถูกต้อง และมีบทลงโทษเบากว่าที่โจทก์ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
เมื่อศาลฟังว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่กระทำความผิดฐานบุกรุกและ ทำให้เสียทรัพย์ ย่อมเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งร่วมกระทำผิดแต่มิได้ฎีกาให้ได้รับประโยชน์ดุจจำเลยที่ 2 ผู้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 364, 83, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคารถจักรยานยนต์แก่ผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 18,000 บาท ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง และวรรคสี่, 364 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต กรณีเมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วไม่อาจปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ได้อีก นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน ลงโทษจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน ลงโทษจำคุก 6 เดือน ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งสองอายุไม่เกิน 18 ปี (ที่ถูก ไม่เกิน 20 ปี) ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยทั้งสองหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานปล้นทรัพย์ จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 33 ปี 4 เดือน ฐานมีและพาอาวุธปืนจำคุกจำเลยที่ 1 รวม 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 34 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคารถจักรยานยนต์ 18,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ริบของกลางยกเว้นรถจักรยานยนต์ 4 คัน ให้คืนแก่เจ้าของ ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83, 76 จำคุก 16 ปี รวมกับโทษฐานมีและพาอาวุธปืนแล้ว เป็นจำคุก 16 ปี 8 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ 2 คน คือ ผู้เสียหายและนายวรรณชัย ซึ่งเป็นน้องชายผู้เสียหายมาเบิกความสอดคล้องกันในส่วนที่ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกมาที่บ้านผู้เสียหายถามหานายก้อยเพื่อนของนายวรรณชัย ผู้เสียหายตอบว่าไม่อยู่ จำเลยที่ 1 แสดงกริยาไม่พอใจ ทำท่าจะชักอาวุธปืนและบอกว่าจำรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน สงขลา 9 ก – 4469 ของผู้เสียหายที่นายก้อยเอาไปขับได้ แม้ผู้เสียหายกับนายวรรณชัยจะเบิกความแตกต่างกันบ้างในส่วนที่ผู้เสียหายบอกว่าไม่เห็นว่าจำเลยที่ 2 พกพาอาวุธ และจำไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 จะร่วมเข็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกไปจากบ้านหรือไม่ แต่นายวรรณชัยเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ยืนถือมีดยาวประมาณ 1 ช่วงแขน อยู่ใกล้ๆ กับจำเลยที่ 1 และได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เข็นรถจักรยานยนต์ออกไปด้วยนั้น เห็นว่า ความแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับอากัปกริยาของคนร้ายแต่ละคนเท่านั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ พยานโจทก์ทั้งสองปากต่างก็ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน แต่เบิกความสอดคล้องและยืนยันตรงกันว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกบุกรุกเข้าไปที่บ้านผู้เสียหาย แล้วนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป แม้เหตุจะเกิดเวลากลางคืน แต่จากภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ ภาพที่ 1 และที่ 2 หน้าบ้านที่เกิดเหตุมีลักษณะเป็นที่โล่ง มีแสงสว่างจากไฟนีออนหลอดยาวที่ติดอยู่ที่หน้าบ้าน ผู้เสียหายและนายวรรณชัยยืนพูดกับจำเลยที่ 1 เป็นเวลานานพอสมควรก่อนที่กลุ่มคนร้ายจะออกไปจากบ้านพร้อมรถจักรยานยนต์ ย่อมมีโอกาสที่จะเห็นและจดจำรูปร่าง ลักษณะใบหน้าคนร้ายได้ นอกจากนี้ ได้ความจากผู้เสียหายเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า นอกจากจำเลยที่ 1 ที่พูดจาตะคอกแล้ว กลุ่มวัยรุ่นที่ร่วมด้วยยังแสดงอาการเสียงดังข่มขู่ผู้เสียหายด้วย โดยที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้พูดกับผู้เสียหายถามหานายก้อยพร้อมแสดงกริยาทำท่าจะชักอาวุธปืน ผู้เสียหายและนายวรรณชัยย่อมต้องมุ่งความสนใจมาที่จำเลยที่ 1 มากกว่าจะจดจำพฤติกรรมของคนร้ายคนอื่น คำเบิกความส่วนนี้จึงอาจแตกต่างกันได้บ้าง การที่รถจักรยานยนต์สองคันที่จอดอยู่หน้าบ้านถูกกรีดเบาะนั่งได้รับความเสียหาย ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ในกลุ่มคนร้ายที่ร่วมกันก่อเหตุจะต้องมีคนหนึ่งคนใดมีอาวุธมีคม หลังเกิดเหตุไม่นาน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งเหตุแล้วก็ติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกได้ภายในเวลากระชั้นชิดไล่เลี่ยกันที่ชุมชนบ่อนวัวโดยได้พบเศษกระบอกโช้กอัพด้านหน้ารถจักรยานยนต์ที่บริเวณนั้น ซึ่งผู้เสียหายดูแล้ว ก็ยืนยันว่าเป็นของผู้เสียหาย จากนั้น เมื่อนำตัวจำเลยทั้งสองกับพวกมาที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสงขลา ร้อยตำรวจเอกธนนันท์ พนักงานสอบสวนก็เบิกความว่า จากการสอบคำให้การ ผู้เสียหายยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยืนคุยกับจำเลยทั้งสองกับพวกตามบันทึกคำให้การ ซึ่งแม้ในบันทึกคำให้การดังกล่าวจะระบุเฉพาะชื่อจำเลยที่ 1 โดยมิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 แต่ผู้เสียหายก็ได้ให้การไว้แล้วว่าคนร้ายคือจำเลยที่ 1 กับพวก ตรงกับบันทึกคำให้การของนายวรรณชัย พวกของจำเลยที่ 1 ก็หมายความรวมถึงจำเลยที่ 2 ด้วย หาใช่ว่าในชั้นสอบสวน ผู้เสียหายและนายวรรณชัยจะไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดไม่ และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงและใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนและทำให้เสียทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน แต่จำเลยที่ 2 ก็ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 นำชี้สถานที่เกิดเหตุจุดที่จำเลยทั้งสองกับพวกประมาณ 20 คน จอดรถจักรยานยนต์ก่อนที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะขึ้นไปที่บ้านผู้เสียหายเพื่อตามหานายก้อย และชี้แสดงจุดที่จำเลยที่ 2 ยืนอยู่ตามวันเวลาเกิดเหตุ โดยมีพวกที่มาด้วยกันทั้งหมดยืนเรียงรายรอบทางเดินและรอบๆ บ้านผู้เสียหายและจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ ตามบันทึกการนำชี้ ที่เกิดเหตุ ภาพที่ 4 และ ภาพที่ 5 เจือสมกับพยานหลักฐานตามทางนำสืบโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกขณะเกิดเหตุ ที่จำเลยที่ 2 นำสืบอ้างว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยที่ 2 อยู่ที่จังหวัดพัทลุง จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ไปบอกว่านายรัตนะ ถูกแทง จำเลยที่ 2 จึงเดินทางมาจังหวัดสงขลาและพักอยู่บ้านมารดา วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ชวนจำเลยที่ 2 ไปนั่งดื่มสุรากับกลุ่มเพื่อนที่ซอย 10 ถนนทะเลหลวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา จนถึงเวลาประมาณ 3 นาฬิกา มีผู้โทรศัพท์แจ้งคนในกลุ่มเพื่อนว่านายรัตนะถูกทำร้าย จึงชวนกันไปที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ไปถึงปากทางเข้าบ้านแล้วรออยู่โดยไม่ได้ขึ้นไปบริเวณบ้านผู้เสียหายประมาณ 10 นาที จึงขับรถออกมากลับไปนั่งดื่มสุราต่อแล้วจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ไปส่งเพื่อนที่ชุมชนบ่อนวัวและถูกจับกุม นั้น แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การไว้ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 2 พบกับนายรัตนะพากันขับรถเที่ยวมองหาเพื่อน ๆ จนเวลาประมาณ 21 นาฬิกาจำเลยที่ 2 พบกับกลุ่มเพื่อนมีรถจักรยานยนต์อีก 7 คัน เป็นยานพาหนะไปตั้งวงดื่มสุรากันบริเวณชายทะเลตรงข้ามป้อมตำรวจสายตรวจวชิราจนเวลาประมาณ 1.30 นาฬิกา จำเลยที่ 2 กับพวกรวม 20 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 8 คัน โดยจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์มีนายรัตนะนั่งซ้อนท้ายพากันไปที่หมู่บ้านเขาแก้ว ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อไปตามหานายก้อย จากนั้นได้ไปที่บริเวณเชิงเขาตรงประตูทางเข้า – ออก ด้านหลังสถาบันราชภัฏสงขลา จากนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งออกมาเปิดไฟหน้าบ้าน จำเลยที่ 2 จึงรีบลงมา ซึ่งแตกต่างกันทั้งยังต่างจากที่นายรัตนะเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นผู้นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกไปจากบ้านและเป็นผู้ยิงปืนทั้งสองนัด โดยอ้างว่าวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไม่ได้ไปที่เกิดเหตุ หลังจากที่นายรัตนะกับพวกนำรถจักรยานยนต์ไปเผาแล้วก็ไปรวมตัวกันที่ชุมชนบ่อนวัว จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา นายรัตนะจึงเรียกให้หยุด จากนั้นเจ้าพนักงานจึงเข้ามาจับกุม ข้ออ้างตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 จึงเป็นพิรุธไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกกระทำความผิดตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นรวมความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ในตัว ดังนั้น ในการวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องหรือไม่ นั้น จำต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นเสียก่อนว่า จำเลยทั้งสองกับพวกมีเจตนาเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตหรือไม่ ปัญหานี้ ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุ นายรัตนะ เพื่อนของจำเลยทั้งสองถูกนายก้อยทำร้ายร่างกาย จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ไปบอกจำเลยที่ 2 ที่จังหวัดพัทลุง จำเลยที่ 2 จึงมาที่จังหวัดสงขลาแล้วได้พบกับนายรัตนะและจำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกไปที่บ้านผู้เสียหายถามหานายก้อย เมื่อผู้เสียหายบอกว่านายก้อยไม่อยู่ จำเลยที่ 1 แสดงอาการไม่พอใจและบอกว่าจำรถจักรยานยนต์ ซึ่งหมายถึงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่นายก้อยนำไปขับขี่ก่อนเกิดเหตุ เมื่อไม่พบตัวนายก้อย จำเลยทั้งสองกับพวกจึงร่วมกันนำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวออกไปจากบ้านผู้เสียหายจนกระทั่งเวลาประมาณ 5 นาฬิกา มีผู้พบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายถูกเผาเสียหาย ตามภาพถ่ายที่ 6 ถึง 13 ตามรูปคดี เชื่อว่า จำเลยทั้งสองกับพวกบุกรุกเข้าไปบริเวณบ้านผู้เสียหายโดยมีเจตนาตามหานายก้อยที่เคยมีเรื่องโกรธแค้นกันมาก่อนเพื่อล้างแค้น เมื่อไม่พบ แต่เห็นรถจักรยานยนต์ที่นายก้อยเคยขับขี่ จึงนำรถจักรยานยนต์ออกไปและเผาทำลายเสียในเวลาไล่เลี่ยกันเพียงคันเดียวทั้งๆ ที่ขณะนั้นที่หน้าบ้านผู้เสียหายมีรถจักรยานยนต์จอดอยู่อีกสองคัน แต่จำเลยทั้งสองกับพวกก็มิได้เอาไป เพียงแต่กรีดเบาะที่นั่งจนขาดเท่านั้น หากจำเลยที่ 2 กับพวกต้องการทรัพย์สินก็น่าที่จะเอาไปหมดทั้งสามคัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และพวกไม่ได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปเป็นของตนเองหรือพวกพ้อง แต่เป็นการที่จำเลยที่ 2 และพวกกระทำไปเพราะต้องการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ กร่างหรือคึกคะนองตามนิสัยวัยรุ่นที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยเพื่อจะล้างแค้นคู่อริ มิใช่เป็นการมุ่งหมายเพื่อจะได้ประโยชน์จากทรัพย์ดังกล่าวแต่ประการใด จึงเป็นการกระทำที่ขาดเจตนาจะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และพวกมีเจตนา ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ
การที่จำเลยที่ 2 กับพวกอีกประมาณ 10 คน บุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายในเวลากลางคืนและใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าจะทำร้ายผู้เสียหายและกลับออกไปพร้อมนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปด้วยนั้น เป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (3) แต่เนื่องจากโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 กรณีจึงมิอาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฐานความผิดดังกล่าวซึ่งมีโทษหนักกว่าที่โจทก์ขอและถือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ จึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา 364 เท่านั้น
การที่จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่เคยเห็นนายก้อยขับขี่ออกไปแล้วเผาทำลายเสียหายเป็นลักษณะว่าทำคนไม่ได้ก็ทำลายของ เป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปจะทำร้ายนายก้อย และเป็นการทำให้รถจักรยานยนต์อันเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายเสื่อมค่า ไร้ประโยชน์ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันกับพวกทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 อีกกระทงหนึ่ง ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานปล้นทรัพย์และความผิดฐานทำให้ เสียทรัพย์นั้น มิได้แตกต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานความผิดที่ถูกต้องและมีบทลงโทษเบากว่าที่โจทก์ฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเหตุลักษณะคดี ซึ่งมีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 358 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิด จำเลยทั้งสองอายุ 18 ปี เศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานบุกรุก จำคุกคนละ 8 เดือน ฐานทำให้เสียทรัพย์จำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 รวม 2 ปี 8 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคารถจักรยานยนต์ 18,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องโจทก์ข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share