แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยสามารถวิ่งเต้นพนักงานอัยการและผู้พิพากษาล้มคดีให้แก่โจทก์ได้ และเรียกเอาเงินเพื่อนำไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์หลงเชื่อได้มอบเงินจำนวน 58,000 บาท แก่จำเลยไป การกระทำของโจทก์มีวัตถุประสงค์เป็นการร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน อันอาจถือได้ว่าโจทก์ใช้ให้จำเลยกระทำความผิดแม้โจทก์จะไม่ทราบว่าจำเลยมิได้นำเงินไปเป็นค่าวิ่งเต้นคดีก็ตาม โจทก์ก็มิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ถึง 30 พฤษภาคม 2543 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยหลอกลวงโจทก์ทั้งสองด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งว่าจำเลยสามารถวิ่งเต้นคดีโดยการนำเงินไปให้อัยการอุทธรณ์ภาค 3 และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อให้โจทก์ทั้งสองซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1422/2543 ทั้งนี้เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง ปล่อยโจทก์ทั้งสองพ้นข้อหา โดยจำเลยให้โจทก์ทั้งสองนำเงินไปให้ 200,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสอง (คือจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว) ไม่สามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมด จึงนำเงินไปให้จำเลยเพียง 58,000 บาท จำเลยรับว่าจะดำเนินการให้และจะให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปล่อยโจทก์ทั้งสองพ้นข้อหาไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยมิได้กระทำตามที่บอกโจทก์ทั้งสอง และไม่สามารถกระทำได้ จำเลยบอกแก่โจทก์ทั้งสองเพื่อต้องการเงินและได้รับเงินจากโจทก์ทั้งสองตามเจตนาของจำเลยต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โจทก์ทั้งสองจึงทราบว่า ที่จำเลยบอกว่าสามารถวิ่งเต้นคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้นั้นไม่เป็นความจริง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากันก่อนเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ทั้งสองถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยหลอกลวงโจทก์ทั้งสองว่าจะช่วยวิ่งเต้นล้มคดีให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยจะต้องเสียค่าวิ่งเต้น พนักงานอัยการและผู้พิพากษารวมเป็นเงิน 200,000 บาท เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นความเท็จ โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อจึงได้จ่ายเงินค่าวิ่งเต้นให้แก่จำเลยไปรวม 58,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า “ผู้เสียหาย” หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ฯลฯ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยสามารถวิ่งเต้นพนักงานอัยการและผู้พิพากษาล้มคดีให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ และเรียกเอาเงินเพื่อนำไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อได้มอบเงินจำนวน 58,000 บาท แก่จำเลยไป การกระทำของโจทก์ทั้งสองดังนี้ มีวัตถุประสงค์เป็นการร่วมกับจำเลยในการนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน อันอาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองใช้ให้จำเลยกระทำความผิด แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้นำเงินไปเป็นค่าวิ่งเต้นคดีก็ตาม โจทก์ทั้งสองก็มิใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีในความผิดฐานฉ้อโกงมาฟ้องจำเลยได้ ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้ออื่นไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน