คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13581/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึง 125 มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งระหว่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้แต่เพียงทางเดียว จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ แม้โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ก็ไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้โจทก์ต้องดำเนินการให้สิ้นสุดกระบวนการโดยจะถอนคำร้องแล้วมาใช้สิทธิทางศาลอีกไม่ได้ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วถอนคำร้องดังกล่าวก่อนยื่นคำฟ้องคดีนี้ในขณะยื่นคำฟ้องจึงไม่มีคำร้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 288,444 บาท ค่าชดเชย 1,153,776 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 144,222 บาท เงินโบนัส 147,600 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 432,666 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้าง 288,444 บาท ค่าชดเชย 738,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,750 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 645,750 บาท และเงินโบนัส 147,600 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2544 ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับเงินเดือน เดือนละ 73,800 บาท เงินเบี้ยขยันเดือนละ 20,000 บาท และเงินค่าครองชีพเดือนละ 18,450 บาท เป็นประจำทุกเดือน เบี้ยขยันไม่เป็นค่าจ้าง ดังนั้นโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 92,250 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนตามใบสำคัญการจ่ายเงินเดือน จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ตามหนังสือชี้แจงและประกาศรายชื่อพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง มิใช่โจทก์ลาออกจากงานไปเอง หนังสือดังกล่าวมิได้ระบุถึงเหตุจำเป็นอย่างไรหรือมีเหตุสมควรประการใดที่จำเลยต้องเลิกจ้างพนักงาน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏสาเหตุหรือมีเหตุสมควร ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม
จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า จำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์และการเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเพราะนายอิล คิว ซอย ลงชื่อในหนังสือเลิกจ้างในขณะที่ยังไม่อยู่ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยและไม่ได้รับมอบหมายจากกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย หนังสือเลิกจ้างดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ และจำเลยอุทธรณ์ข้อสองว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์เพราะมิได้มีการตกลงเป็นหนังสือ จึงไม่มีข้อกำหนดเป็นจำนวนแน่นอนว่าจะต้องจ่ายให้โจทก์เพียงใดในแต่ละปีและไม่ใช่ค่าจ้างนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าจำเลยค้างจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ข้อสามว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เกินคำขอไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เป็นเงินเพียง 432,666 บาท แต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์เป็นเงิน 645,750 บาท โดยไม่ได้อ้างเหตุอันสมควรเพื่อความเป็นธรรมแต่อย่างใด จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว โจทก์ต้องดำเนินการให้สิ้นสุดกระบวนการ ไม่มีบทบัญญัติใดให้สิทธิลูกจ้างถอนคำร้อง การที่โจทก์ถอนคำร้องแล้วมาใช้สิทธิทางศาลอีกเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งระหว่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้แต่เพียงทางเดียว จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ แม้โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ก็ไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้โจทก์ต้องดำเนินการให้สิ้นสุดกระบวนการโดยจะถอนคำร้องแล้วมาใช้สิทธิทางศาลอีกไม่ได้ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วได้ถอนคำร้องดังกล่าวก่อนยื่นคำฟ้องคดีนี้ในขณะยื่นคำฟ้อง จึงไม่มีคำร้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์จำนวน 432,666 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share