แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิ่งปลูกสร้างอาคารชุด ร. เป็นส่วนควบของที่ดินตามโฉนดที่ดิน โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ สรุปได้ความว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารชุด ร. โดยเจ้าของที่ดินยินยอมให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้าง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิเหนือพื้นดิน ทั้งยังปรากฏตามสัญญาซื้อขายว่า ซื้อขายเฉพาะที่ดิน ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง และงบการเงิน ก็ระบุว่าจำเลยที่ 1 มีสินค้าคงเหลือเป็นอาคารชุด ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดิน อันเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลที่เกี่ยวกับบริษัท กรณีจึงเป็นที่แจ้งชัดว่า กรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างอาคารชุด ร. ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินตามโฉนดที่ดิน เป็นของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ดังนี้ ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินให้ก่อสร้างอาคารชุด ร. บนที่ดินดังกล่าวหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อ้างอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อความผิดที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
ย่อยาว
คดีสามสำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4108/2556 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 เรียกโจทก์สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 3 และให้เรียกจำเลยทั้งเจ็ดทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 7 แต่คดีดังกล่าว ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกา เฉพาะคดีสามสำนวนนี้
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟ้องและแก้ฟ้องทั้งสามสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 350 และขอให้นับโทษจำเลยทั้งสามสำนวนต่อกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถอนฟ้องจำเลยที่ 7 ทั้งสามสำนวน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลบหนี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยที่ 7 ทั้งสามสำนวน จำหน่ายคดีจำเลยที่ 7 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายคดีชั่วคราวทั้งสามสำนวน
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ทั้งสามสำนวนในคดีที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อ 2.1 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อ 2.1 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า สิ่งปลูกสร้างอาคารชุดราไวยา สวีท เป็นส่วนควบของที่ดินตามโฉนดที่ดินหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิ่งปลูกสร้างอาคารชุดราไวยา สวีท เป็นส่วนควบของที่ดินตามโฉนดที่ดิน โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ข้อ 2.1 สรุปได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างอาคารชุดราไวยา สวีท โดยเจ้าของที่ดินยินยอมให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้าง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิเหนือพื้นดิน ทั้งยังปรากฏตามสัญญาซื้อขายว่า ซื้อขายเฉพาะที่ดิน ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง และงบการเงิน ก็ระบุว่าจำเลยที่ 1 มีสินค้าคงเหลือเป็นอาคารชุด ได้ปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลที่เกี่ยวกับบริษัท กรณีจึงเป็นที่แจ้งชัดว่า กรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างอาคารชุดราไวยา สวีท ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ดังนี้ ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดิน ให้ก่อสร้างอาคารชุดราไวยา สวีท บนที่ดินดังกล่าวหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อ้างอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อความผิดที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน