แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ดินมีโฉนดซึ่ง ด. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ล. บิดาจำเลยทั้งสอง เมื่อที่ดินดังกล่าวมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าส่วนของใครอยู่ตอนไหนและมีเนื้อที่เท่าใด ด. และ ล. ผู้มีชื่อในโฉนดซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันจึงยังเป็นเจ้าของรวมอยู่ตามส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์ การที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับ ด. โดยระบุเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการซื้อขายตัวทรัพย์ซึ่งมิใช่เป็นการขายกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของ ด. จะกระทำได้ก็แต่ความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน การที่ ด. เอาตัวทรัพย์มาทำสัญญาจะขายแก่โจทก์ โดย ล. เจ้าของรวมมิได้ยินยอมด้วย จึงไม่มีผลผูกพัน ล. เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับโอนมรดกจาก ล. จึงถือว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันทุกส่วนและมีส่วนในที่ดินพิพาททั้งแปลงเท่ากัน โจทก์จึงฟ้องขอให้แบ่งแยกที่ดินโดยให้โจทก์ได้ที่ดินทางด้านทิศเหนือและจำเลยทั้งสองได้ที่ดินด้านทิศใต้หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปดำเนินการขอรังวัดการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4158 ตำบลสวนส้ม (ดำเนินสะดวก) อำเภอบ้านแพ้ว (กระทุ่มแบน) จังหวัดสมุทรสาคร โดยให้ที่ดินทางด้านทิศเหนือติดคลองดำเนินสะดวกเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 55 1/2 ตารางวา เป็นของโจทก์ ส่วนที่เหลือจำนวนเนื้อที่เท่ากันทางด้านทิศใต้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง และให้เสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินการรังวัดแบ่งแยกฝ่ายละครึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินได้โดยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 4158 ตำบลสวนส้ม (ดำเนินสะดวก) อำเภอบ้านแพ้ว (กระทุ่มแบน) จังหวัดสมุทรสาคร โดยกำหนดให้ที่ดินทางด้านทิศเหนือซึ่งติดกับคลองดำเนินสะดวกจำนวนเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 55 1/2 ตารางวา เป็นของโจทก์ ส่วนที่เหลือจำนวนเนื้อที่เท่ากันทางด้านทิศใต้เป็นของจำเลยทั้งสอง ให้โจทก์จำเลยเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินการรังวัดแบ่งแยกฝ่ายละครึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โจทก์ถึงแก่ความตายนางกนกวรรณ ก๋ำนารายณ์หรือสุทธิวงษ์ ซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 4158 ตำบลสวนส้ม (ดำเนินสะดวก) อำเภอบ้านแพ้ว (กระทุ่มแบน) จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา เดิมมีนายพรม มาบรรดิษฐ์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2520 นายพรมขายที่ดินโดยการจดทะเบียนให้นายจำลอง มาบรรดิษฐ์ ถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 2 ส่วนของที่ดินพิพาท วันที่ 28 มีนาคม 2520 นายพรมจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนแก่นายแดง มาบรรดิษฐ์ ซึ่งเป็นบุตร วันที่ 3 ธันวาคม 2533 นายแดงจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ วันที่ 14 ตุลาคม 2539 จำเลยทั้งสองจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนายจำลองซึ่งถึงแก่ความตาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่านายแดงจะขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา อยู่ทางด้านทิศเหนือติดคลองดำเนินสะดวกซึ่งเป็นที่ดินที่โจทก์เช่าทำอยู่ก่อนแล้วก็ตาม แต่นายแดงพยานโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า ตอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ได้ระบุว่าขายส่วนไหน นอกจากคำเบิกความของนายแดงดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหนังสือสัญญาจะซื้อขายแล้ว หากนายแดงครอบครองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนทางด้านทิศเหนือที่ติดคลองดำเนินสะดวกตามที่โจทก์นำสืบ นายแดงก็น่าจะทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา ดังกล่าวเสียตั้งแต่แรก แต่ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินกลับระบุว่านายแดงให้โจทก์เช่าที่ดินพิพาทเนื้อที่เพียงประมาณ 2 ไร่ 17 ตารางวา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากนายแดงทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนบางส่วนและนายแดงได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนส่วนที่เหลือแต่อย่างใด หนังสือสัญญาเช่าที่ดินจึงไม่สอดคล้องกับหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดิน แสดงว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่โจทก์อ้างว่านายแดงครอบครองทางด้านทิศเหนือยังมีเนื้อที่ไม่แน่นอน ประกอบกับโจทก์ก็เบิกความว่า ระหว่างที่ดินโจทก์กับที่ดินจำเลยทั้งสองมีต้นมะม่วง 4 ต้น แสดงเขตไว้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่านายแดงและนายจำลองได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดว่าส่วนของผู้ใดมีเนื้อที่เท่าใด นายแดงและนายจำลองซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันจึงยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่ตามส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์ การที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวเป็นการซื้อขายตัวทรัพย์ มิใช่เป็นการขายกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของนายแดงที่ครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว การขายตัวทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง เจ้าของรวมคนหนึ่งจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน การที่นายแดงขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นตัวทรัพย์โดยนายจำลองมิได้ยินยอมให้นายแดงทำสัญญาจะขายและตกลงให้โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนทางด้านทิศเหนือติดคลองดำเนินสะดวกซึ่งโจทก์เข้าทำอยู่แล้ว ข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อขายที่โจทก์และนายแดงทำไว้จึงไม่มีผลผูกพันนายจำลอง การที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายตลอดมาเป็นการครอบครองแทนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอนมรดกมาจากนายจำลองด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตามฟ้อง ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองยังคงครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันทุกส่วนและมีส่วนในที่ดินพิพาททั้งแปลงเท่ากันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน