คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5308/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 รับโอนหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 ส่วนของโจทก์ไว้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ มาตรา 28 กำหนดว่านอกเหนือจากการประกันชีวิต ให้บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตลงทุนประกอบธุรกิจอื่นใดได้เฉพาะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการควบคุมบริษัทประกันชีวิตให้นำเงินไปลงทุนได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 11 ที่จำเลยที่ 1 ถือหุ้นดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะเป็นบริษัทที่มีทรัพย์สินเกินกว่าหนี้สินและไม่มีฐานะเป็นบริษัทที่มีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปีของทุนที่ชำระแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีก่อนที่ซื้อหุ้นนั้นตามหลักเกณฑ์การลงทุนของบริษัทประกันชีวิตที่กำหนดในกฎกระทรวง ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตได้ลงทุนประกอบธุรกิจอันเป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2519) ออกตามความใน พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการโอนหุ้นดังกล่าว จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย นิติกรรมการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์โอนหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 โดยเจตนาลวง ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 แทนจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ กับการที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์ได้หรือไม่ ล้วนเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลสูงย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เริ่มก่อการและจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 11 ซึ่งมีผู้ถือหุ้น 16 คน โดยโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น 490 หุ้น และเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 11 การก่อตั้งจำเลยที่ 11 เป็นไปเพื่อจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุด โจทก์ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 11 ขณะนั้น ได้ทำบันทึกรายละเอียดของโครงการเสนอต่อแผนกลงทุนของจำเลยที่ 1 เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการ โดยให้จำเลยที่ 11 กู้ยืมเงินไปลงทุน จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 11 จำนวน 50,000,000 บาท โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,500,000 บาท ต่อมาโจทก์ติดต่อขอรับเงินตามวงเงินกู้ในส่วนที่ยังไม่ได้รับอีก 9,500,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่ายเงินให้ ทำให้โครงการก่อสร้างอาคารชุดของโจทก์ต้องชะงักไป จำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 จะเข้ามาก่อสร้างให้โดยจะให้วงเงินกู้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ให้โจทก์แสดงเจตนาลวงโอนหุ้นของจำเลยที่ 11 ทั้งของโจทก์และของผู้มีชื่อถือหุ้นคนอื่นซึ่งถือแทนโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์และผู้ถือหุ้นเหล่านั้นได้ลงชื่อในแบบการโอนหุ้นโดยที่ยังไม่ได้มีการกรอกข้อความใด ๆ ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไป ต่อมาจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 10 พนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนหุ้นแทนจำเลยที่ 1 ในทางปฏิบัติโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันให้โจทก์เป็นเจ้าของหุ้นแท้จริง และมีข้อตกลงว่าให้โจทก์เป็นผู้ขายอาคารในระบบไทม์แชริ่งแล้วนำเงินไปชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะดำเนินการให้ผู้รับโอนหุ้นทั้งหมดทยอยโอนหุ้นคืนให้แก่โจทก์ตามจำนวนหนี้ที่ได้ชำระแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ให้โจทก์ลงชื่อในแบบขอแก้ไขอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 11 เพื่อถอนชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการในการจ่ายเงินอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้โจทก์ใช้อำนาจเบิกจ่ายไปใช้ในทางอื่น จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้แสดงออกว่าเข้าทำการงานต่าง ๆ ในบริษัทจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 1 ได้ให้บริษัทเอส.ไอ.พี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 10 เป็นผู้จัดการและเป็นผู้รับโอนหุ้นจากโจทก์ก่อสร้าง ส่วนด้านการขายอาคารชุด โจทก์ได้จัดตั้งบริษัทแวคเคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ขึ้นเพื่อดำเนินการขาย จำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งหมดภายใต้การครอบงำของจำเลยที่ 2 ได้ทำความเสียหายให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 11 ทำให้ยอดหนี้ที่โจทก์หรือจำเลยที่ 11 เป็นหนี้จำเลยที่ 1 สูงขึ้น และเสียดอกเบี้ยตามเวลาที่ประวิง โดยประสงค์ให้ยอดหนี้รวมดอกเบี้ยมีจำนวนสูงกว่าที่ได้เคยตกลงกันไว้ และกลั่นแกล้งโจทก์และบริษัทแวคเคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด โดยไม่ให้โจทก์และบริษัทดังกล่าวขายไทม์แชริ่งให้แก่ลูกค้า จำเลยที่ 2 ได้จัดตั้งจำเลยที่ 4 ขึ้นเพื่อเข้ามามีส่วนในการขายไทม์แชริ่งแทนและหลอกลวงโจทก์ให้ยอมให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้มีอำนาจในการขายไทม์แชริ่งได้รับเงินในการขายทั้งหมดแทน การที่จำเลยทั้งหมดภายใต้การครอบงำของจำเลยที่ 2 กระทำไปเป็นการผิดข้อตกลงกับโจทก์ และเป็นการฉวยโอกาสกระทำการโดยทุจริตเพื่อสร้างความเสียหายให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 11 โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งหมดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ รวมทั้งโอนหุ้นและการจัดการในบริษัทของจำเลยที่ 11 กับคืนการถือครองอาคารชุดทั้งหมดให้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งหมดไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอีกแต่จำเลยทั้งหมดเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันคืนเงินจำนวน 151,000,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเพื่อนำเข้าเป็นของจำเลยที่ 11 ให้จำเลยร่วมกันชำระเงินจำนวน 88,640,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์เพื่อนำเข้าเป็นของจำเลยที่ 11 ต่อไป ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันใช้เงินจำนวนเดือนละ 6,600,000 บาท ตามฟ้องให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบอาคารให้แก่โจทก์เพื่อนำเข้าเป็นของจำเลยที่ 11 ต่อไป ให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 11 ร่วมกันโอนหุ้นของจำเลยที่ 11 คืนโจทก์ หากไม่จัดการโอนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหมด และให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เพื่อนำเข้าเป็นของจำเลยที่ 11 ต่อไป และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้โจทก์เข้าดำเนินกิจการของจำเลยที่ 11 และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาคารชุดเซ้าท์ พัทยารีสอร์ท หรือซิกม่าร์รีสอร์ทคลับไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยให้โจทก์แสดงเจตนาลวงโอนหุ้นของจำเลยที่ 11 ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีความจำเป็นจะต้องให้โอนหุ้น การโอนหุ้นของจำเลยที่ 11 เป็นเรื่องผู้ถือหุ้นเดิมกับผู้ถือหุ้นคนใหม่ตกลงกันด้วยความสมัครใจและมีเจตนาผูกพันกันตามสัญญาโอนหุ้นอย่างแท้จริงมิใช่การแสดงเจตนาลวง โจทก์กับผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่นไม่เคยมอบแบบการโอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่นของจำเลยที่ 11 มิใช่เป็นผู้ถือหุ้นแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 10 เป็นผู้รับโอนหุ้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงกับโจทก์และจำเลยอื่น ๆ ดังกล่าวให้ถือหุ้นแทนจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทประกอบธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย ไม่มีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างอาคาร จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงแบ่งงานโดยจะรับผิดชอบในการก่อสร้างอาคารชุดบริษัท เอส.ไอ.พี จำกัด ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นไม่มีสิทธิจะเรียกร้องเอาทรัพย์สินของจำเลยที่ 11 และไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อประโยชน์จำเลยที่ 11 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้โจทก์เข้าดำเนินกิจการต่าง ๆ ของจำเลยที่ 11 และห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับอาคารตามฟ้อง เพราะโจทก์จะต้องเป็นกรรมการของจำเลยที่ 11 จึงจะเข้าดำเนินกิจการต่าง ๆ ของจำเลยที่ 11 ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 10 ให้การว่า การโอนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นเดิมของจำเลยที่ 11 โอนให้แก่ผู้ถือหุ้นใหม่นั้นเป็นการโอนโดยใจสมัครเพื่อที่จะผูกนิติสัมพันธ์ต่อกันอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นการแสดงเจตนาลวง จำเลยที่ 3 ได้รับโอนหุ้นจำนวน 490 หุ้นจากโจทก์ และได้รับโอนหุ้นอีก 255 หุ้น จากผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งเป็นบุคคลอื่น ส่วนจำเลยที่ 10 ได้รับโอนหุ้นจำนวน 22 หุ้น จากนางสบใจ พิรยะพันธ์ ไม่ใช่รับโอนจากโจทก์ ผู้ถือหุ้นเดิมไม่ได้ถือหุ้นแทนโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 และที่ 11 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมได้ตกลงโอนหุ้นกับผู้อื่นเพื่อจะเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารของจำเลยที่ 11 กล่าวคือ เพื่อให้มีการตั้งกรรมการใหม่เข้ามาดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดต่อไปให้แล้วเสร็จ การโอนหุ้นของจำเลยที่ 11 เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นเดิมกับผู้ถือหุ้นใหม่ตกลงกันด้วยความสมัครใจ และมีเจตนาผูกพันกันตามสัญญาโอนหุ้นอย่างแท้จริง และเมื่อโอนหุ้นกันแล้วก็ได้แจ้งจำเลยที่ 11 ให้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนผู้ถือหุ้นด้วย จำเลยที่ 11 ก็ได้ดำเนินการโดยถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 10 เป็นผู้รับโอนหุ้นและจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ตกลงกับโจทก์และจำเลยอื่นให้ถือหุ้นแทนจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 11 เป็นนิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ต่างหากจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่เรียกร้องเอาทรัพย์สินของจำเลยที่ 11 และไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 11 โดยฟ้องจำเลยที่ 11 เป็นจำเลยด้วย การฟ้องให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 11 ชดใช้ค่าเสียหายจะกระทำได้โดยผู้ถือหุ้นแจ้งให้บริษัทฟ้องกรรมการผู้กระทำความเสียหายก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องได้ แต่ก่อนฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดเคยแจ้งให้จำเลยที่ 11 ฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ใช่กรรมการของจำเลยที่ 11 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้โจทก์เข้าดำเนินกิจการของจำเลยที่ 11 ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 9 ไม่ได้เป็นผู้กระทำการใดในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 9 ไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำหรือบงการของจำเลยที่ 2 การโอนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นเดิมของจำเลยที่ 11 โดยให้แก่ผู้ถือหุ้นใหม่เป็นการโอนโดยใจสมัครมุ่งที่จะผูกนิติสัมพันธ์ต่อกันอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นการแสดงเจตนาลวง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกหุ้นคืนจากจำเลยใหม่
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความมิได้นำสืบโต้เถียงกันว่า โจทก์เป็นผู้เริ่มก่อการและจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 11 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดเซ้าท์ พัทยารีสอร์ท เพื่อนำออกขายโดยในระยะแรกที่จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 11 โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้ถือหุ้นด้วย จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตและเป็นผู้ให้วงเงินกู้ยืมแก่จำเลยที่ 11 ในการก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าวแต่ต่อมาจำเลยที่ 1 งดการให้เงินกู้ยืมแก่จำเลยที่ 11 ชั่วคราว โจทก์ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 11 และออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้วงเงินกู้ยืมแก่จำเลยที่ 11 ต่อไป จำเลยที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 10 ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 และที่ 10 ให้คำมั่นว่าจะขายหุ้นของจำเลยที่ 11 ให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้กู้ยืมจากจำเลยที่ 11 เรียบร้อยแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 ประการแรกว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 รับโอนหุ้นบริษัทจำเลยที่ 11 ของโจทก์ไว้แทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เดิมโจทก์เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 11 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 11 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดเซ้าท์ พัทยารีสอร์ท ที่หาดจอมเทียน เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะต้องใช้เงินก่อสร้าง 100,000,000 บาท โจทก์จึงนำรายละเอียดโครงการไปเสนอจำเลยที่ 1 โดยขอกู้เงินในชั้นต้นจำนวน 40,000,000 บาท จำเลยที่ 1 อนุมัติให้โจทก์กู้เงินได้ตามขอ โจทก์ได้รับเงินกู้จากจำเลยที่ 1 เป็นงวด ๆ ต่อมาเงินที่ใช้ในการก่อสร้างไม่เพียงพอโจทก์ขอกู้เงินเพิ่มอีก 10,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เพิ่มวงเงินกู้ดังกล่าว โจทก์ได้รับเงินกู้มาทั้งหมด 40,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2526 โจทก์ขอใช้วงเงินกู้ที่เหลืออีก 9,500,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้ใช้วงเงิน โดยอ้างว่าโจทก์จะใช้เงินไปในการก่อสร้างโครงการอื่นของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ดำเนินการต่อเอง แต่ขอให้โจทก์โอนหุ้นบริษัทจำเลยที่ 11 ในส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยแสดงเจตนาลวงไว้ สำหรับการขายอาคารชุดให้โจทก์เป็นผู้ขายในระบบไทม์แชริ่ง เมื่อโจทก์ชำระหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 11 แล้ว จำเลยที่ 1 จะทยอยโอนหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 คืนให้โจทก์ ต่อมานายอรรถพลมาแจ้งให้โจทก์ทราบว่า การที่โจทก์จะโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 ถือไว้แทนโจทก์นั้นไม่สามารถทำได้เพราะฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 จำเลยที่ 1 จึงรับจะเป็นผู้ไปหาวิธีการโอนหุ้นเอง โจทก์จึงทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 โดยระบุจำนวนหุ้นแล้วลงลายมือชื่อไว้ แต่ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับโอนมอบให้จำเลยที่ 1 ไป ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 ส่วนของโจทก์ดังกล่าวไปโอนให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 ถือไว้แทนโจทก์ ซึ่งโจทก์ไม่รู้จักบุคคลเหล่านั้น จำเลยที่ 1 จึงแจ้งให้โจทก์ทราบว่าบุคคลเหล่านี้เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 กับพนักงานบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ให้บุคคลเหล่านี้ทำหนังสือคำมั่นจะโอนหุ้นคืนให้โจทก์ หลังจากนั้นทำรายงานการประชุมถอดถอนโจทก์จากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 11 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ตั้งใจให้จำเลยที่ 5 เป็นผู้บริหารบริษัทจำเลยที่ 11 แทนโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธความข้อนี้ โดยอ้างว่าการโอนหุ้นบริษัทจำเลยที่ 11 เป็นเรื่องเฉพาะตัวระหว่างโจทก์กับผู้รับโอนจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่เมื่อพิจารณาคำมั่นจะขายหุ้นบริษัทจำเลยที่ 11 คืนให้โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ทำขึ้น ระบุว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 9และที่ 10 ผู้มีกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 ขอแสดงเจตนาให้คำมั่นว่าจะโอนขายกรรมสิทธิ์หุ้นทั้งหมดดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 11 ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมและหนี้จำนองที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นต่อไปให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ข้อความดังกล่าวจึงแสดงชัดอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 มีผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจเกี่ยวข้องกันในการที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 แทนโจทก์ ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 11 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 จึงจะโอนหุ้นบริษัทจำเลยที่ 11 ในส่วนของโจทก์คืนให้แก่โจทก์นั่นเอง ประกอบกับภายหลังจากจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นผู้บริหารของบริษัทจำเลยที่ 11 แล้ว ก็ได้มีการนำเงินของจำเลยที่ 1 มาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 11 อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริษัทจำเลยที่ 11 สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ก็ด้วยเงินทุนจากจำเลยที่ 1 โดยตรง ทั้งโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 เป็นลูกจ้างและพนักงานบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็รับในคำให้การว่า จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 รับโอนหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 ส่วนของโจทก์ไว้แทนจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 ประการต่อมาว่า การที่จำเลยที่ 1 ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อันมีผลทำให้การโอนหุ้นตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 จะยกเลิกพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 แต่ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 131 บัญญัติว่า “ให้บรรดากฎกระทรวง ประกาศ หรือเงื่อนไขในการอนุญาตที่ออกหรือกำหนด ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวง ประกาศ หรือเงื่อนไขที่ออกหรือกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” และมีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 118 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ถือว่าบรรดาบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้…” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 จึงยังคงเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตต่อไปตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 118 ดังกล่าว เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 28 บัญญัติว่า “นอกจากการประกันชีวิต บริษัทจะลงทุนประกอบธุรกิจอื่นใดได้เฉพาะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในการนี้รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขสำหรับการประกอบธุรกิจนั้น ๆ ให้บริษัทปฏิบัติด้วยก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการควบคุมบริษัทประกันชีวิตนำเงินไปลงทุนได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น ปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 จดทะเบียนเข้าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 แทนจำเลยที่ 1 จากโจทก์ช่วงระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2527 ซึ่งช่วงดังกล่าวมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กรกฎาคม 2519 และมีผลบังคับใช้อยู่จนกระทั่งมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 ให้ยกเลิกความในข้อ 2 และข้อ 5 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2519) สาระสำคัญของกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2519) ข้อ 5 (2) ซึ่งบังคับใช้ขณะมีการโอนหุ้นดังกล่าวมีข้อกำหนดว่า บริษัทประกันชีวิตจะซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้ของบริษัทจำกัดซึ่งประกอบธุรกิจในการขายหรือให้เช่าซื้อที่ดินและอาคารได้ รวมกันไม่เกินร้อยละสิบของสินทรัพย์ของบริษัทตามบัญชีงบดุลที่มีอยู่ในวันสิ้นปีบัญชีครั้งสุดท้าย และจะซื้อได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินทุนที่ชำระแล้วของบริษัทจำกัด และบริษัทจำกัดนั้นต้องมีทุนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่าหกล้านบาท มีทรัพย์สินเกินกว่าหนี้สิน และมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่าร้อยละสิบต่อปีของทุนที่ชำระแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีก่อนมีที่ซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้นั้น ถึงแม้กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2519) ข้อ 2 และข้อ 5 ดังกล่าวจะถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ.2528) และบัญญัติข้อความในข้อ 2 และข้อ 5 ขึ้นใหม่ แต่ก็ยังคงมีข้อความบัญญัติข้อกำหนดเงื่อนไขในการลงทุนในทำนองเดียวกันกับกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2519) แทบจะทุกประการ คงบัญญัติเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดไว้เฉพาะการซื้อหุ้นของบริษัทจำกัดมาเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น เมื่อความปรากฏจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า ช่วงก่อนวันที่ 16 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2527 อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 เป็นตัวแทนเข้าถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 แทนจำเลยที่ 1 นั้น บริษัทจำเลยที่ 11 ไม่อยู่ในฐานะเป็นบริษัทที่มีทรัพย์สินเกินกว่าหนี้สินและไม่มีฐานะเป็นบริษัทที่มีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่าร้อยละสิบต่อปีของทุนที่ชำระแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีก่อนปีที่ซื้อหุ้นนั้น การที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวการมอบให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 แทนจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตได้ลงทุนประกอบธุรกิจอันเป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการโอนหุ้นดังกล่าว จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย นิติกรรมการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 ข้อ 4 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 5 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2519) กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 ดังกล่าวหาได้มีการยกเลิกข้อความตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2528) ข้อ 5 (2) ด้วยแต่อย่างใดไม่ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีกฎกระทรวงฉบับใหม่ออกมายกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2528) ดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 อ้างในฎีกา ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก เมื่อสัญญาโอนหุ้นตกเป็นโมฆะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 จึงต้องโอนหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 คืนโจทก์ แต่เมื่อไม่ปรากฏชัดว่า โจทก์ได้รับเงินค่าโอนหุ้นจากฝ่ายจำเลยเป็นจำนวนเท่าใด จึงยังไม่สามารถกำหนดให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ การจะเรียกร้องให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมอย่างไร ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกคดีหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 ประการสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมีผลให้การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นโมฆะ เป็นประเด็นที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีว่าโจทก์โอนหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 โดยเจตนาลวง ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 11 แทนจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ กับการที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์ได้หรือไม่นั้น ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share