คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5280/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สาเหตุที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความให้ ท. น้องสาวของโจทก์นำไปใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ แต่ ท. มิได้นำไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กรอกข้อความในใบมอบอำนาจของโจทก์ว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 รับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความ จึงต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง จะให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกต้องรับความเสียหายจากการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของโจทก์เองย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยที่ 3 ผู้สุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเพิกถอนการจำนองดังกล่าวและแม้ที่ดินจะต้องถูกโอนกลับไปเป็นของโจทก์ นิติกรรมจำนองที่จำเลยที่ 2 ก่อไว้ย่อมตกติดมาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2280 ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2280 ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ระหว่างโจทก์ (โดยจำเลยที่ 1 ผู้รับมอบอำนาจ) กับจำเลยที่ 2 โดยให้คงนิติกรรมจำนองไว้ คำขอนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังยุติได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2280 ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2539 โจทก์ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นางทองรัตน์ วภักดิ์เพชร น้องสาวของโจทก์พร้อมกับลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยไม่ได้กรอกข้อความเพื่อให้นางทองรัตน์นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2543 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 นำที่ดินดังกล่าวโอนขายให้จำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 นำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนระหว่างโจทก์ (โดยจำเลยที่ 1 ผู้รับมอบอำนาจ) กับจำเลยที่ 2 คดีถึงที่สุดสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่ามีเหตุจะต้องเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินไม่มีอำนาจนำที่ดินไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 นิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ไม่ผูกพันโจทก์จึงต้องเพิกถอน เห็นว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความให้นางทองรัตน์ วภักดิ์เพชร น้องสาวของโจทก์ตามที่นางทองรัตน์อ้างว่าจะนำไปใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ แต่นางทองรัตน์มิได้นำไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กรอกข้อความในใบมอบอำนาจของโจทก์ว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 นำสืบว่ารับจำนองไว้โดยไม่รู้ว่ามีการปลอมเอกสารใบมอบอำนาจของโจทก์ ขณะจำเลยที่ 2 นำที่ดินมาขอจำนองก็มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของ จำเลยที่ 3 จึงเชื่อว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 จึงรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 รับจำนองไว้โดยรู้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบ มีการปลอมใบมอบอำนาจของโจทก์ดังกล่าว พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 รับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความจึงต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง จะให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกต้องรับความเสียหายจากการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของโจทก์เองย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยที่ 3 ผู้สุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเพิกถอนการจำนองดังกล่าว และแม้ที่ดินจะต้องถูกโอนกลับไปเป็นของโจทก์ นิติกรรมจำนองที่จำเลยที่ 2 ก่อไว้ย่อมตกติดมาด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามาจึงชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share