แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ ผู้ร้องขัดทรัพย์ และจำเลย ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้ได้เงินสุทธิเท่าใดให้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้2ใน 3 ส่วน เงินส่วนที่เหลือให้ผู้ร้องขัดทรัพย์รับไปเช่นนี้ ก็ต้องถือว่าเงินส่วนที่เหลือจาก 2 ใน 3 ส่วนของเงินสุทธิที่ขายทอดตลาดได้ตกเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่เงินของจำเลย
เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ที่ยึดได้จากการขายทอดตลาดครั้งแรกในราคา 80,000 บาท แต่ผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่วางเงินมัดจำในการซื้อทรัพย์และได้ทำสัญญาขอผัดชำระเงินผลที่สุดได้ผิดสัญญาไม่นำเงินมาชำระและได้ยอมให้จัดการขายทอดตลาดทรัพย์ใหม่ตามสัญญายอมรับผิดที่ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากการขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งหลังได้ราคาต่ำกว่าการขายครั้งก่อนเท่าไร ผู้ร้องขัดทรัพย์ยอมใช้เงินให้เต็มจำนวนตามที่ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้รับซื้อไว้ครั้งก่อน ฉะนั้น เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งหลังได้ในราคา 61,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาขายครั้งแรก ก็ต้องคิดส่วนได้ของโจทก์และค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดเต็มจำนวนเสมือนหนึ่งขายทอดตลาดได้ราคาเท่าการขายทอดตลาดครั้งแรกเงินส่วนได้ของผู้ร้องขัดทรัพย์จากการขายทอดตลาดครั้งหลังจึงต้องตกอยู่ในบังคับที่จะนำไปชดใช้ส่วนที่ขายทอดตลาดได้ราคาต่ำไปนั้นด้วย
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญากู้โจทก์จำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ศาลพิพากษาตามยอม จำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลย คือ รถยนต์โดยสารยี่ห้ออีซูสุ เลขทะเบียน บ.ล. ๐๐๓๙๘ระหว่างประกาศขายทอดตลาด ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องอ้างว่า ตัวถัง เบาะที่นั่งและอุปกรณ์ในตัวถังรถยนต์เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ขอให้งดการขายทอดตลาดและถอนการยึด โจทก์แถลงคัดค้านในที่สุดโจทก์ จำเลย และผู้ร้องขัดทรัพย์ตกลงประนีประนอมยอมความกันให้นำรถยนต์ที่ยึดออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าไร ให้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ๒ ใน ๓ ส่วน เงินที่เหลืออยู่ให้ผู้ร้องขัดทรัพย์รับไป จำเลยไม่ค้าน และให้ถือว่าผู้ร้องขัดทรัพย์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยไปตามจำนวนเงินนั้น
ต่อมาศาลสั่งขายทอดตลาดรถยนต์คันดังกล่าว ผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้ในราคา ๘๐,๐๐๐ บาท ซึ่งผู้ร้องขัดทรัพย์จะต้องวางเงินมัดจำ ๒๕%เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่มีเงินวางจึงทำหนังสือสัญญาซื้อขายไว้กับจ่าศาลชั้นต้นว่า ถ้าผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่นำเงินทั้งหมดมาชำระให้เสร็จภายในกำหนด ๑๕ วันนับแต่วันซื้อทรัพย์ ผู้ร้องขัดทรัพย์ยอมให้ศาลชั้นต้นบังคับยึดทรัพย์ของผู้ร้องขัดทรัพย์ขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินที่จะต้องวางมัดจำ๒๐,๐๐๐ บาท และยอมให้จัดการขายทรัพย์ใหม่ หากการขายครั้งหลังนี้ได้ราคาต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด ผู้ร้องขัดทรัพย์ยอมออกเงินใช้ให้เต็มตามจำนวนที่ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้รับซื้อไว้ครั้งก่อน ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาพ้นกำหนดนัดแล้วผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่นำเงินมาวาง ศาลชั้นต้นจึงประกาศขายทอดตลาดรถยนต์ดังกล่าวใหม่ และโจทก์เป็นผู้ซื้อได้ในราคา ๖๑,๐๐๐ บาท เมื่อโจทก์ผู้ซื้อได้ชำระเงิน ๖๑,๐๐๐ บาท และหักค่าธรรมเนียมการขายร้อยละ ๕ เป็นเงิน ๓,๐๕๐บาท แล้วคงเหลือเงิน ๕๗,๙๕๐ บาท โจทก์ได้ขอหักส่วนของโจทก์ที่มีส่วนได้๒ ส่วนใน ๓ ส่วนออกก่อน เป็นเงิน ๓๘,๖๓๓.๓๓ บาท แล้วโจทก์จึงวางเงินที่เหลือ ๑ ส่วนเป็นเงิน ๑๙,๓๑๖.๖๗ บาทต่อศาล ต่อมาจ่าศาลชั้นต้นรายงานต่อศาลขอให้ริบเงิน ๑๙,๓๑๖.๖๗ บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินของผู้ร้องขัดทรัพย์ผู้ผิดสัญญาโดยไม่วางเงินมัดจำ ศาลสั่งว่า ปฏิบัติตามหนังสือสัญญาซื้อขายทรัพย์
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องอ้างว่าเงินจำนวน ๑๙,๓๑๖.๖๗ บาทที่ศาลยึดนี้ควรตกได้แก่จำเลยผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิจะได้รับตามกฎหมาย ขอให้ศาลสั่งจ่ายเงินจำนวนนี้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งว่าเงินจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลสั่งริบนี้เป็นเงินส่วนได้ของผู้ร้องมิใช่ของโจทก์หรือจำเลย ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า เงินดังกล่าวได้มาจากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยซึ่งถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการขายแทนคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๘, ๓๒๒ วรรค ๒โจทก์ชอบที่จะขอรับเงินจำนวนนี้มาชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่ใช่เงินของจำเลยที่โจทก์จะมาขอชำระหนี้ของโจทก์ได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ผู้ร้องขัดทรัพย์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ตกลงกันว่ารถยนต์ที่ยึดไว้ หากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใด ให้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ๒ ใน ๓ ส่วน เงินที่เหลือให้ผู้ร้องขัดทรัพย์รับไป ให้ถือว่าผู้ร้องขัดทรัพย์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยไปตามจำนวนเงินนั้น เมื่อตกลงกันไว้เช่นนี้ ในชั้นแรกก็ต้องถือว่าเงินจำนวน๑๙,๓๑๖.๖๗ บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนที่เหลือจาก ๒ ใน ๓ ส่วนของเงินสุทธิที่ขายทอดตลาดได้ตกเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์ตามที่ได้ตกลงประนีประนอมกันไว้ เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่เงินของจำเลย แต่เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นผู้ซื้อรถยนต์ที่ยึดได้จากการขายทอดตลาดครั้งแรกในราคา ๘๐,๐๐๐ บาทนั้นผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่วางเงินมัดจำในการซื้อทรัพย์ แต่ได้ทำสัญญาขอผัดชำระเงินและผลที่สุดได้ผิดสัญญาไม่นำเงินมาชำระและได้ยอมให้จัดการขายทอดตลาดรถยนต์ใหม่ ตามสัญญายอมรับผิดที่ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าหากขายทอดตลาดครั้งหลัง ได้ราคาต่ำกว่าการขายครั้งก่อน ผู้ร้องขัดทรัพย์ยอมใช้ให้เต็มจำนวนที่รับซื้อไว้ ฉะนั้น เมื่อขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้ราคา๖๑,๐๐๐ บาท ซึ่งต่ำไปกว่าราคาขายครั้งแรกเช่นนี้ ย่อมทำให้ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการขายทอดตลาดครั้งก่อนได้รับความเสียหายเท่าจำนวนเงินที่ขายได้ราคาต่ำไป ซึ่งผู้ร้องขัดทรัพย์จะต้องรับผิดตามที่ได้ทำสัญญาไว้ คือผู้ร้องขัดทรัพย์จะต้องรับผิดชอบในเงินที่ขายต่ำลงอีก ๑๙,๐๐๐ บาท เพื่อให้ครบ ๘๐,๐๐๐ บาท โดยเหตุนี้เงินจำนวน ๑๙,๓๑๖.๖๗ บาท อันเป็นส่วนของผู้ร้องขัดทรัพย์ดังกล่าว จึงต้องอยู่ในบังคับที่จะนำมาชดใช้ส่วนที่ขายทอดตลาดรถยนต์ได้ราคาต่ำไป อันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาขายทอดตลาดรถยนต์นั่นเอง โจทก์ย่อมขอรับชำระหนี้จากเงินจำนวนนี้ได้ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเงินที่จะนำมาชดใช้นี้จะเป็นเงินมัดจำหรืออย่างไรการคำนวณจึงต้องถือราคาขาย ๘๐,๐๐๐ บาทเป็นเกณฑ์และหักเป็นค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดไว้ ส่วนของผู้ร้องขัดทรัพย์ที่ขาดหายไปย่อมตกเป็นพับแก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ ดังนั้น เมื่อหักค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาด ๔,๐๐๐ บาท ออกจากเงินสดที่มีอยู่จริง ๖๑,๐๐๐ บาทแล้วจึงมีเงินสุทธิเหลืออยู่ ๕๗,๐๐๐ บาท เงินสุทธิที่เหลืออยู่จึงเป็นส่วนของโจทก์ที่โจทก์ควรมีควรได้เป็นเงิน ๕๐,๖๖๖.๖๗ บาท คือ ๒ ใน ๓ ส่วน ของเงินที่ขายทอดตลาดได้ในราคา ๘๐,๐๐๐ บาท ฉะนั้น เงินที่ยังคงค้างอยู่ที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ๑๙,๓๓๖.๖๗ บาทนั้น โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้อีก ๑๒,๐๓๓.๓๔ บาท และต้องหักเป็นค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดอีก๙๕๐ บาท ส่วนที่เหลือจึงจะตกได้แก่ผู้ร้องขัดทรัพย์
พิพากษาแก้ เป็นว่า เงินค้างจ่ายอยู่ที่ศาลจำนวน ๑๙,๓๑๖.๖๗ บาท นั้นให้เป็นส่วนของโจทก์ ๑๒,๐๓๓.๓๔ บาท และให้หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาด ๙๕๐ บาท ส่วนที่เหลือจึงให้ตกเป็นส่วนได้ของผู้ร้องขัดทรัพย์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์