คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กระทรวงศึกษาธิการซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาแล้วมอบให้โรงเรียนประชาบาลใช้ประโยชน์อันตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กระทรวงการคลังได้ทำการรังวัดสำรวจขึ้นทะเบียนเป็นที่หลวง แต่ไม่ปรากฏว่าได้ขึ้นทะเบียนอะไรไว้คงขึ้นทะเบียนเป็นพัสดุเคลื่อนที่ไม่ได้ของแผนกศึกษาธิการอำเภอซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการเนื้อที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลังจึงไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่มีอำนาจฟ้องผู้อยู่ในที่ดินนั้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีคำสั่งมอบหมายให้จังหวัด เทศบาล และสุขาภิบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดินภายในเขตของตน ตามคำสั่งที่ 890/2498 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้ว ฉะนั้น จังหวัดเทศบาล และสุขาภิบาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินภายในเขตของตน อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้เป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่งย่อมอยู่ในความรับผิดชอบและควบคุมดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน และควบคุมดูแลราชการบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ เมื่อมีบุคคลใดบุกรุกหรือเข้าครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันของจังหวัดเทศบาลหรือสุขาภิบาลในจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่บุคคลนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจหน้าที่ร่วมกันในการรักษาคุ้มครองดูแลที่หลวงของรัฐบาลที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2485 โจทก์ที่ 1ได้ซื้อที่ดินที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 1 แปลง จากนายสวัสดิ์เพื่อใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษา แล้วมอบให้โรงเรียนประชาบาลบ้านหาญใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นอันตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และได้ขึ้นทะเบียนพัสดุเคลื่อนที่ไม่ได้ของแผนกศึกษาธิการอำเภอด่านขุนทด กับได้แจ้งการครอบครองไว้ด้วย โจทก์ที่ 2 ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินดังกล่าวเป็นที่หลวงตามอำนาจหน้าที่และตามกระแสพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6ที่ 65/507 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2464 โจทก์ที่ 3 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจคุ้มครองดูแลรักษาที่ดินที่อยู่ในเขตจังหวัด ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จำเลยมีที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์ได้บังอาจทำรั้วล้อมรอบที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงเข้ารวมกับที่ดินของจำเลยโดยเจตนายึดถือครอบครอง ครูโรงเรียนบ้านหาญซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกไป จำเลยก็เพิกเฉย และต่อมาจำเลยได้ปลูกเรือนบางส่วนรุกล้ำที่ดินโจทก์ด้วย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน และห้ามเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอด่านขุนทดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน ให้จำเลยโดยรวมเอาที่ดินของโจทก์เข้าไปด้วย

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยซื้อที่ดินตามฟ้องจากนายสวัสดิ์ที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จำเลยซื้อมาจากนางเพิงกระแสพระบรมราชโองการไม่มีผลใช้บังคับแล้ว จะนำมาใช้เพื่อขึ้นทะเบียนเอาที่ดินของจำเลยไปเป็นที่หลวงไม่ได้ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุและมิได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย โจทก์ที่ 3 ไม่มีอำนาจฟ้อง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2499 มิได้บัญญัติให้ผู้ว่าราชการมีอำนาจหน้าที่คุ้มครองดูแลเกี่ยวกับสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกต่อไปแล้ว พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ที่ 1 และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องและให้จำเลยรื้อถอนรั้วรอบที่ดินออกไป คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้ยกเสีย

โจทก์ที่ 2, ที่ 3 อุทธรณ์ว่ามีอำนาจฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ที่ 2, ที่ 3 ฎีกา

ในปัญหาอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2คือกระทรวงการคลังปรากฏตามคำฟ้องว่า ได้ทำการรังวัดสำรวจที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นที่หลวง แต่ไม่ปรากฏว่าได้ขึ้นทะเบียนอะไรไว้ที่ใดอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่ 2 คงขึ้นทะเบียนเป็นพัสดุเคลื่อนที่ไม่ได้ของแผนกศึกษาธิการอำเภอด่านขุนทดซึ่งเป็นหน่วยงานของโจทก์ที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้วว่าที่พิพาทนี้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย และไม่มีอำนาจฟ้อง

ส่วนอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นศาลฎีกาวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคแรก บัญญัติว่า “บรรดาที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินของแผ่นดิน ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้อธิบดีมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี อำนาจหน้าที่ดังว่านี้ รัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้” ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 นี้ ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ จังหวัด เทศบาลและสุขาภิบาล มีหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินของแผ่นดินภายในเขตของตน ตามคำสั่งที่ 890/2498 สั่ง ณ วันที่ 16 สิงหาคม2498 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วฉะนั้น จังหวัด เทศบาล และสุขาภิบาล ย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและทำการคุ้มครองป้องกันที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินภายในเขตของตน อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินของแผ่นดินเช่นว่านี้ ย่อมถือว่าเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2499 มาตรา 7 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37) ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดโดยให้บริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมาย และระเบียบแบบแผนตลอดจนควบคุมดูแลราชการบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนั้นตามกฎหมายด้วย ฉะนั้น ราชการแผ่นดินทุกอย่างของจังหวัด เทศบาลและสุขาภิบาล ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบและควบคุมดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสิ้น หน้าที่ในการดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้แก่จังหวัด เทศบาล และสุขาภิบาล ตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้น เป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง จึงต้องอยู่ในความรับผิดชอบและควบคุมดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย ดังนั้น เมื่อมีบุคคลใดบุกรุกหรือเข้าครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันของจังหวัด เทศบาลสุขาภิบาลดังกล่าวในจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่บุคคลนั้นได้ โจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่าโจทก์ที่ 3 มีอำนาจฟ้องคดีนี้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share