คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5179/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีผลประกอบการที่ดีและมีกำไรมาโดยตลอด แต่ต่อมาเมื่อกลางปี 2540 โจทก์เกิดขาดสภาพคล่องกะทันหันจนถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 และแต่งตั้งบริษัท พ. เป็นผู้ทำแผน เมื่อมีการตรวจสอบรายการทางการเงินของโจทก์พบว่า การรายงานสินทรัพย์สุทธิและกำไรสุทธิมีความคลาดเคลื่อน และระหว่างเดือนธันวาคม 2537 ถึงกรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้บริหารงานของโจทก์ได้ร่วมกันชำระเงิน 3,950,000,000 บาทให้แก่บุคคลหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องโดยไม่ชอบ โดยโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยแต่ละคนโดยละเอียดถึงวันที่มีการเบิกถอนเงิน จ่ายเงิน และโอนเงินจำนวนเท่าใดจากธนาคารอะไร ให้ใคร ที่บัญชีเลขที่เท่าใด พร้อมรายละเอียดแห่งความเสียหายที่จำเลยแต่ละคนได้ก่อให้แก่โจทก์ตามเอกสารที่แนบมาท้ายฟ้อง เป็นคำฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยแต่ละคนทำผิดสัญญาโดยโอนเงินให้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกโดยไม่ชอบ พร้อมทั้งบรรยายว่าจำเลยแต่ละคนทำการอย่างไร เมื่อใด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เท่าใด โดยแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องมาท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยชัดแจ้งแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ทำให้จำเลยสามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่แก้ไข มาตรา 90/25 บัญญัติว่า เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลตกแก่ผู้ทำแผน และมาตรา 90/24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารของลูกหนี้ และผู้บริหารชั่วคราวโดยไม่ชักช้า อำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนให้เริ่มแต่วันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว และให้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารของลูกหนี้ หรือผู้บริหารชั่วคราวสิ้นสุดลง หมายความว่า เมื่อศาลตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารลูกหนี้ และผู้บริหารชั่วคราวเป็นอันสิ้นสุดลง โดยให้ผู้ทำแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน การฟ้องคดีเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำเร็จลุล่วง ผู้ทำแผนจึงมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องคดีนี้ได้
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าได้ร่วมกันทำละเมิดในการทำงานตามหน้าที่ในทางการที่จ้าง อันถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2537 ถึงเดือนกรกฎาคม 2540 โดยนำคดีมาฟ้องในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ซึ่งไม่พ้นกำหนด 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิดแก่โจทก์ด้วยการเบิกถอนเงินจากบัญชีธนาคารแล้วจ่ายให้แก่บริษัทและบุคคลอื่นโดยไม่ชอบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2537 ถึงเดือนกรกฎาคม 2540 เป็นจำนวนเงิน 3,950,000,000 บาท ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดหลายครั้ง แม้โจทก์จะได้นำเช็คและรายการที่เรียกเก็บเงินตามเช็คมาแสดงต่อศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นยอดรวมหลายครั้งว่าแต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่ไม่ได้แยกให้ชัดว่าจำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินตามเช็คแต่ละใบเมื่อใด จำนวนเท่าใด และจ่ายออกไปโดยไม่ชอบเมื่อใด จำนวนเท่าใด และศาลแรงงานกลางก็มิได้รับฟังข้อเท็จจริงโดยละเอียดดังกล่าว โจทก์นำสืบได้เพียงว่าโจทก์ทราบมูลเหตุที่ฟ้องร้องคดีนี้ในวันประชุมคณะกรรมการโจทก์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2540 ดังนั้น แม้ว่ามูลหนี้จากการทำละเมิดให้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันทำละเมิดและต้องคิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ประกอบมาตรา 224 แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดแต่ละครั้งเมื่อใด จำนวนเท่าใด การที่ศาลแรงงานกลางให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องนั้น จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ สำหรับสำนวนแรกอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัย (ที่ 75/3541) ว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง และโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 10 ที่ 11 ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 10 ที่ 11 สำนวนแรกจึงให้เรียกนายชาญเป็นจำเลยที่ 1 นางสาววารีเป็นจำเลยที่ 2 นายพรเทพเป็นจำเลยที่ 3 นางจินตนาเป็นจำเลยที่ 4 และสำนวนหลังให้เรียกนายศักดาเป็นจำเลยที่ 5 และนางสาววาสนาเป็นจำเลยที่ 6
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 22,270,520,978.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 19,256,954,844.75 บาท นับถัดจากวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์ครบถ้วน
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 14,387,913,265.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 กรกฎาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6
โจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้รายที่ 2 หรือจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างไร โจทก์บรรยายเพียงว่าจำเลยที่ 1 จ่ายเช็คและมีการเบิกเงินตามเช็คเท่านั้น มิได้บรรยายให้เห็นชัดแจ้งว่าการเบิกถอนเงินของจำเลยที่ 1 ตามเช็คนั้นผิดระเบียบข้อบังคับข้อใด จำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดสัญญาจ้างอย่างไร ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถที่จะเข้าใจและให้การต่อสู้คดีได้ จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม เห็นว่า คำฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีผลประกอบการที่ดีและมีกำไรมาโดยตลอด แต่ต่อมาเมื่อกลางปี 2540 โจทก์เกิดขาดสภาพคล่องกะทันหันจนถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 และแต่งตั้งบริษัทไพรัช วอเตอร์เฮ้าส์ดูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอริ่ง จำกัด เป็นผู้ทำแผน เมื่อมีการตรวจสอบรายการทางการเงินของโจทก์พบว่า การรายงานสินทรัพย์สุทธิและกำไรสุทธิมีความคลาดเคลื่อน และระหว่างเดือนธันวาคม 2537 ถึงกรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้บริหารงานของโจทก์ได้ร่วมกันชำระเงิน 3,950,000,000 บาทให้แก่บุคคลหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องโดยไม่ชอบ โดยโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยแต่ละคนโดยละเอียดถึงวันที่มีการเบิกถอนเงิน จ่ายเงิน และโอนเงินจำนวนเท่าใดจากธนาคารอะไร ให้ใคร ที่บัญชีเลขที่เท่าใด พร้อมรายละเอียดแห่งความเสียหายที่จำเลยแต่ละคนได้ก่อให้แก่โจทก์ตามเอกสารที่แนบมาท้ายฟ้อง เป็นคำฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยแต่ละคนทำผิดสัญญาโดยโอนเงินให้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกโดยไม่ชอบ พร้อมทั้งบรรยายว่าจำเลยแต่ละคนทำการอย่างไร เมื่อใด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เท่าใด โดยแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องมาท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยชัดแจ้งแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ทำให้จำเลยสามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นบริษัทซึ่งอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว การติดตามทวงถามหนี้สินหรือใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ โจทก์ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 90/38 หรือมาตรา 90/39 โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการแทนเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว กลับนำคดีมาฟ้องศาลแรงงานกลางอ้างว่าเป็นเรื่องละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้น เป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 90/38 และมาตรา 90/39 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิเคราะห์ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่แก้ไข มาตรา 90/25 บัญญัติว่า “…เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลตกแก่ผู้ทำแผน” และมาตรา 90/24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารของลูกหนี้ และผู้บริหารชั่วคราวโดยไม่ชักช้า อำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนให้เริ่มแต่วันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว และให้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารของลูกหนี้ หรือผู้บริหารชั่วคราวสิ้นสุดลง” หมายความว่า เมื่อศาลตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารลูกหนี้ และผู้บริหารชั่วคราวเป็นอันสิ้นสุดลง โดยให้ผู้ทำแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน การฟ้องคดีเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำเร็จลุล่วง ผู้ทำแผนจึงมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องคดีนี้ได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อสามว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าได้ร่วมกันทำละเมิดในการทำงานตามหน้าที่ในทางการที่จ้าง อันถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2537 ถึงเดือนกรกฎาคม 2540 โดยนำคดีมาฟ้องในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ซึ่งไม่พ้นกำหนด 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลแรงงานกลางต้องกำหนดให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องหรือวันทำละเมิด เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิดแก่โจทก์ด้วยการเบิกถอนเงินจากบัญชีธนาคารแล้วจ่ายให้แก่บริษัทและบุคคลอื่นโดยไม่ชอบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2537 ถึงเดือนกรกฎาคม 2540 เป็นจำนวนเงิน 3,950,000,000 บาท ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดหลายครั้ง แม้โจทก์จะได้นำเช็คและรายการที่เรียกเก็บเงินตามเช็คมาแสดงต่อศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นยอดรวมหลายครั้งว่าแต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่ไม่ได้แยกให้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกถอนเงินตามเช็คแต่ละใบเมื่อใด จำนวนเท่าใด และจ่ายออกไปโดยไม่ชอบเมื่อใด จำนวนเท่าใด และศาลแรงงานกลางก็มิได้รับฟังข้อเท็จจริงโดยละเอียดดังกล่าว โจทก์นำสืบได้เพียงว่าโจทก์ทราบมูลเหตุที่ฟ้องร้องคดีนี้ในวันประชุมคณะกรรมการโจทก์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2540 ดังนั้น แม้ว่ามูลหนี้จากการทำละเมิดให้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันทำละเมิดและต้องคิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ประกอบมาตรา 224 แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดแต่ละครั้งเมื่อใด จำนวนเท่าใด การที่ศาลแรงงานกลางให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องนั้น จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share