แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17 วรรคท้าย กำหนดว่า การกำหนดตาม (11), (13) คือ การกำหนดวันเริ่มต้นการหีบอ้อยและน้ำตาลทราย การกำหนดชนิด คุณภาพ และปริมาณน้ำตาลทรายที่ให้โรงงานผลิต ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งแสดงว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และวันที่มีผลบังคับใช้ก็คือวันที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา การที่จะออกประกาศให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังและเป็นโทษแก่ผู้ถูกบังคับนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น เมื่อมีการลงประกาศดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 มกราคม 2537 ต้องถือว่าประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2537 เป็นต้นไป การที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับจากการที่โจทก์หีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2536 อันเป็นการกระทำก่อนวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ ว. 9606/2536 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2536 เรื่อง กำหนดชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายที่ให้โรงงานน้ำตาลผลิตในฤดูกาลผลิตปี 2536/37 (บัญชีจัดสรรขั้นต้น) พร้อมด้วยร่างกำหนดชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายที่ให้โรงงานน้ำตาลผลิตในฤดูการผลิตปี 2536/37 (บัญชีจัดสรรขั้นต้น) ถึงโจทก์ และที่ ว. 473/2537 เรื่อง กำหนดชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายที่ให้โรงงานน้ำตาลทรายผลิตในฤดูการผลิตปี 2536/37 (บัญชีจัดสรรขั้นต้น) พร้อมสำเนาประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2537 ลงวันที่ 7 มกราคม 2537 เรื่อง กำหนดชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายที่ให้โรงงานน้ำตาลผลิตในฤดูการผลิตปี 2536/37 (บัญชีจัดสรรขั้นต้น) บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 5/2537 ลงวันที่ 7 เมษายน 2537 หนังสือ สอน. ที่ กบ.3163/2535 ลงวันที่ 11 เมษายน 2537 เรื่องสั่งการให้ชำระเบี้ยปรับ บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 11/2537 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2537 หนังสือกระทรวงอุตสาหกรรมที่ อก. 0206/3096 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 เรื่องอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการบริหารและขอทุเลาการชำระเบี้ยปรับ และระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบ หรือ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2528
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติหรือคำสั่งของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกับมติหรือคำสั่งคณะกรรมการบริหารตามรายงานการประชุมครั้งที่ 11/2537 และครั้งที่ 5/2537 ของจำเลยทั้งสองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์หนังสือที่ ว.473/2537 ลงวันที่ 18 มกราคม 2537 หนังสือที่ กบ.3163/2535 ลงวันที่ 11 เมษายน 2537 หนังสือ อก. 0206/3096 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลได้ออกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบ หรือ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 โจทก์เป็นโรงงานผลิตน้ำตาลทราย การกำหนดวันเริ่มต้นการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายของแต่ละโรงงาน รวมทั้งการกำหนดชนิด คุณภาพ และปริมาณน้ำตาลทรายที่ให้โรงงานแต่ละโรงงานผลิตในแต่ละปีนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17 (11) (13) ในฤดูการผลิตปี 2536/37 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้มีหนังสือแจ้งให้โรงงานน้ำตาลทรายทุกโรงทราบถึงชนิดและปริมาณของน้ำตาลทรายที่โรงงานแต่ละโรงได้รับอนุญาตให้ผลิต และคณะกรรมการบริหารมีหนังสือแจ้งให้โจทก์เปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายได้ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไป ปรากฏว่าในช่วงแรกที่โจทก์เริ่มหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2536 ในแบบรายงานและรายงานสรุปประจำวันไม่มีปริมาณน้ำตาลทรายดิบที่โจทก์ผลิตได้ คณะกรรมการบริหาร เห็นว่าโจทก์ฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2537 เรื่อง กำหนดชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายที่ให้โรงงานน้ำตาลผลิตในฤดูการผลิตปี 2536/37 (บัญชีจัดสรรขั้นต้น) ลงวันที่ 7 มกราคม 2537 โดยผลิตน้ำตาลทรายขาวเพียงชนิดเดียวไม่ได้ผลิตน้ำตาลทรายดิบควบคู่ไปด้วย จึงมีมติให้ปรับโจทก์ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับ
ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 เป็นเงิน 800,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2537 เรื่อง กำหนดชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายที่ให้โรงงานน้ำตาลผลิตในฤดูการผลิตปี 2536/37 ลงวันที่ 7 มกราคม 2537 จะมีผลใช้บังคับเมื่อใด โดยโจทก์ฎีกาว่าประกาศดังกล่าวไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลังนั้น ปรากฏว่าประกาศดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนพิเศษ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2537 แล้ว และตาม พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17 วรรคท้าย กำหนดว่า การกำหนดตาม (11), (13) คือ การกำหนดวันเริ่มต้นการหีบอ้อยและน้ำตาลทราย การกำหนดชนิด คุณภาพ และปริมาณน้ำตาลทรายที่ให้โรงงานผลิต ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งแสดงว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และวันที่มีผลบังคับใช้ก็คือวันที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา การที่จะออกประกาศให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังและเป็นโทษแก่ผู้ถูกบังคับนั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น เมื่อมีการลงประกาศดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 มกราคม 2537 ต้องถือว่าประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2537 เป็นต้นไป การที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับจากการที่โจทก์หีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2536 อันเป็นการกระทำก่อนวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 7,000 บาท.