คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5515/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้นเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริง แต่ก็หาได้ผูกมัดจำเลยหรือโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องให้เป็นไปตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ไม่ และหากจำเลยเห็นว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้นั้นต่ำไป ก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองได้ ส่วนการที่คู่ความจะมีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 และข้อ 4 ของตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณราคาทรัพย์สินเพื่อการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย หาใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเช่นคดีนี้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 52442 ตำบลบางเสาธง (เสาธง) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา โดยประเมินราคารวม 800,000 บาท
จำเลยยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอยู่ใกล้สถานที่ราชการและติดถนนสาธารณะ โจทก์รับจำนองเป็นเงิน 1,500,000 บาท หากขายจะได้ราคาไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประเมินราคาของเจ้าพนักงานบังคับคดีและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า การประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้นเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดเท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริง แต่ก็หาได้ผูกมัดจำเลยหรือโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องให้เป็นไปตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ไม่ และหากจำเลยเห็นว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้นั้นต่ำไป ก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่คู่ความตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับการคำนวณราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนดคำร้องของจำเลย จึงชอบที่จะได้รับการวินิจฉัยจากศาลตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 และข้อ 4 ของตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า การที่คู่ความจะมีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลตามที่กำหนดไว้ในตาราง 5 ดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณราคาทรัพย์สินเพื่อการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย หาใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเช่นคดีนี้ไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาโดยไม่สุจริตและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มีลักษณะคบคิดกันฉ้อฉลเพื่อเอื้อประโยชน์แก่โจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง นั้น เป็นข้อกล่าวอ้างนอกเหนือคำร้องของจำเลยที่ยื่นต่อศาลชั้นต้น จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share