คำวินิจฉัยที่ 3/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๕๔

วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๔

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๒ นายเต้า วัดสำโรง โจทก์ ยื่นฟ้องนางสุเทพ ตีบกระโทก ที่ ๑ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๘๖/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินหน่วยที่ ๓ เลขสำรวจที่ ๒๙ แปลงที่ ๑ กลุ่มที่/ระวาง ๘๔๑๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลไทยเจริญ อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๘๙ ตารางวา ซึ่งซื้อมาจากนายชื่น ปานงูเหลือม เจ้าของเดิมเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๔ โจทก์ให้นายใหญ่ อุไรวรรณ พ่อตาของโจทก์และเป็นบิดาของจำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๒ ประกาศให้เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินของรัฐยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาในพื้นที่โครงการต่าง ๆ จำนวน ๓๑ โครงการ จำเลยที่ ๑ ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์มานาน ทำให้จำเลยที่ ๒ หลงเชื่อ ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ หมู่ที่ ๓ ตำบลไทยเจริญ อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๘๙ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๒ เปลี่ยนแปลงชื่อในเอกสารสิทธิมาเป็นของโจทก์ แต่เจ้าพนักงานแจ้งว่า ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๑ ก่อน โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ โอนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ มาเป็นของโจทก์ หากจำเลยไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ และให้จำเลยที่ ๒ ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ มาเป็นของโจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าใช้จ่ายแทนโจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้จำเลยที่ ๑ ได้รับการยกให้มาจากบิดามารดาโดยการ จับจองที่รกร้างว่างเปล่า และครอบครองทำประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า ๔๐ ปี การที่โจทก์อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้มีชื่อจึงเป็นความเท็จ จำเลยที่ ๒ ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยชอบด้วยกฎหมายปฏิรูปที่ดิน โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลนี้มาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งแรกคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๑๙/๒๕๕๐ โจทก์ถอนฟ้อง ครั้งที่ ๒ คดีหมายเลขดำที่ ๑๕๓๖/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๒ ศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ ๑ จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาว่าได้ที่ดินพิพาทมาจากบิดาและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมาโดยมีกำนันตำบลไทรน้อย ผู้ปกครองท้องที่ให้การรับรองว่าจำเลยที่ ๑ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย และเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ และไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ โดยโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว ซื้อมาจากนายชื่น ปานงูเหลือม เมื่อปี ๒๕๑๔ และโจทก์ได้ให้นายใหญ่ อุไรวรรณ พ่อตาโจทก์และเป็นบิดาจำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ จนกระทั่งนายใหญ่เสียชีวิต ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๒ ประกาศ ให้เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินของรัฐยื่นคำร้องเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ในเขตพื้นที่โครงการต่าง ๆ จำนวน ๓๑ โครงการ นายใหญ่กับจำเลยที่ ๑ กลับแจ้งข้อความเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เข้าทำประโยชน์ ทั้งที่ความจริงจำเลยที่ ๑ ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ และโจทก์ได้ให้นายใหญ่บิดาจำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ ทำให้จำเลยที่ ๒ หลงเชื่อออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ เนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๘๙ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑ ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลยที่ ๑ หรือไม่ ซึ่งหากผลแห่งคดีฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลยที่ ๑ แล้ว จึงมีผลไปถึงจำเลยที่ ๒ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงการออกหนังสือในที่ดินดังกล่าวให้กับโจทก์ต่อไปภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น อีกทั้งตามฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาได้ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ ที่พิพาทว่า เป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์เพียงแต่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งข้อความเป็นเท็จต่อจำเลยที่ ๒ เพื่อให้ออกหนังสือเอกสารสิทธิดังกล่าวให้กับจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ดังนั้น ผลตามคำฟ้องโจทก์ จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ว่าเป็นการออกคำสั่งหรือกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการที่กำหนดไว้ หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ตามคำให้การของจำเลยที่ ๒ แต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ผลของ คำพิพากษาย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง การออกเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และจำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๒ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๒ ได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) เลขที่ ๑๕๐๐๗ ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยที่ดินตามเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าวนั้น ตนเป็นเจ้าของด้วยการซื้อมาจากนายชื่นเมื่อปี ๒๕๑๔ และได้ให้นายใหญ่พ่อตาของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ แต่จำเลยที่ ๑ กลับนำที่ดินดังกล่าวไปออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ โดยแจ้งข้อความเป็นเท็จต่อจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๑ ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้จำเลยที่ ๑ โอนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าวมาเป็นของโจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ไม่โอนให้แก่โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๒ ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ มาเป็นของโจทก์แทน โดยให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าใช้จ่ายแทนโจทก์ ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๒ ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
สำหรับประเด็นปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหา ของคดีอันเป็นเพียงประเด็นย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการดำเนินการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ของจำเลยที่ ๒ นั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งคดีที่มีข้อพิพาทในลักษณะเดียวกันกับข้อพิพาทในคดีนี้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้เคยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๑/๒๕๔๙ ว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินหน่วยที่ ๓ เลขสำรวจที่ ๒๙ แปลงที่ ๑ กลุ่มที่/ระวาง ๘๔๑๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลไทยเจริญ อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๘๙ ตารางวา โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อและให้พ่อตาของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ แต่จำเลยที่ ๑ กลับนำที่ดินดังกล่าวไปออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ โดยแจ้งข้อความเป็นเท็จต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา จำเลยที่ ๒ ว่า ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว จนจำเลยที่ ๒ หลงเชื่อและออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ ให้แก่จำเลยที่ ๑ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ โอนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ มาเป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ และให้จำเลยที่ ๒ ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ มาเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้จำเลยที่ ๑ ได้รับการยกให้มาจากบิดามารดาโดยการจับจองที่รกร้างว่างเปล่า และครอบครองทำประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า ๔๐ ปี จำเลยที่ ๒ ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๑๕๐๐๗ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายปฏิรูปที่ดิน จำเลยที่ ๑ จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท และจำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาว่าได้ที่ดินพิพาทมาจากบิดาและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมาโดยมีกำนันตำบลไทรน้อย ผู้ปกครองท้องที่ให้การรับรองว่าจำเลยที่ ๑ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย และเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่จำเลยที่ ๑ นั้น จำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายเต้า วัดสำโรง โจทก์ นางสุเทพ ตีบกระโทก ที่ ๑ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share