คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6313/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ให้เช่าห้องพิพาท มิได้รับเงินจากโจทก์การกระทำของ ม. เป็นการเรียกร้องแทนเจ้าของห้องในฐานะนายหน้า จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยคำให้การของจำเลยมิได้ตั้งประเด็นเรื่องค่าเช่าว่า โจทก์จะต้องชำระค่าเช่าห้องให้แก่จำเลยในฐานะคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้เช่าแทนเจ้าของห้องก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นคำให้การที่ปฏิเสธความรับผิดตามคำฟ้องของโจทก์อย่างสิ้นเชิง การที่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นข้อพิพาทวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาว่า ม. เป็นตัวแทนของจำเลยหรือเป็นนายหน้าของเจ้าของห้องในการนำห้องดังกล่าวออกให้โจทก์เช่าโดยมีประเด็นข้อพิพาทที่ต่อเนื่องว่าจำเลยจะต้องคืนเงินจำนวนตามที่ฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด และการที่ศาลทั้งสองวินิจฉัยว่า ม. เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยในการนำห้องออกให้โจทก์เช่า ถือได้ว่าโจทก์ได้เช่าห้องดังกล่าวจากจำเลยเพราะผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของห้องที่ให้เช่า ประกอบกับจำเลยมีวัตถุประสงค์ให้เจ้าของร่วมนำห้องที่จะให้เช่ามามอบให้จำเลยเป็นผู้บริหารจัดการเองเพื่อประโยชน์ต่อเจ้าของรวมทุกคน จำเลยจึงต้องผูกพันกับการเช่าห้องดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์ขอคืนเงินในการเช่าห้องโดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดมีการผิดสัญญาและขอให้สิทธิเลิกสัญญาแก่กัน จึงถือได้ว่า ม. ในฐานะตัวแทนของจำเลยยอมให้โจทก์ส่งมอบห้องคืนเช่นนี้แล้ว ย่อมมีผลให้การเช่าห้องเป็นอันเลิกกันและคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชำระค่าเช่าในระยะเวลาที่โจทก์อยู่ในห้องเช่าดังกล่าวให้แก่จำเลย จึงเป็นคำวินิจฉัยที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีโดยตรงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือขัดกับข้อเท็จจริงในสำนวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 9,172 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 6,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 800 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 300 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจว่า “คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยวินิจฉัยว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าเป็นเวลาครึ่งเดือนเป็นเงิน 2,250 บาท ให้แก่จำเลยเป็นการวินิจฉัยที่ขัดกับข้อเท็จจริงในสำนวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่เพียงใด เห็นว่า การวินิจฉัยข้อกฎหมายเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทอาคารชุดตามกฎหมาย โดยมีข้อบังคับและกฎระเบียบอาคารชุดจำเลยตามสำเนาหนังสือรับรอง และสำเนาข้อบังคับและกฎระเบียบ ตลอดจนมีวัตถุประสงค์ของอาคารชุดจำเลยเพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง รวมทั้งหารายได้เพื่อใช้จ่ายดังกล่าว เช่น การให้บริการรับฝากห้องเช่าของอาคารชุดจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 โดยจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดได้เชิดให้นางสาวมณีกานต์พนักงานของจำเลยเป็นตัวแทนนำห้องพักในอาคารชุดซึ่งมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของออกให้บุคคลภายนอกเช่าตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของร่วมทุกคน ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2548 โจทก์ได้มาขอเช่าห้องหมายเลข 312 ในอาคารชุดจำเลยเป็นรายเดือนจากนางสาวมณีกานต์ นางสาวมณีกานต์ตกลงให้เช่าโดยเรียกเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 4,500 บาท และเงินประกันอีก 4,500 บาท รวมเป็นเงิน 9,000 บาท ตามสำเนาภาพถ่ายใบเสร็จรับเงิน ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์กับนางสาวมณีกานต์ในฐานะตัวแทนเชิดของจำเลยตกลงเลิกสัญญากันและโจทก์ได้ย้ายออกจากห้องพักดังกล่าวในวันนั้นเอง แต่จำเลยไม่คืนเงินจำนวน 9,000 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืน เห็นว่า แม้จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ให้เช่าห้องพิพาท จำเลยมิได้รับเงินจากโจทก์ การกระทำของนางสาวมณีกานต์เป็นการเรียกร้องแทนเจ้าของห้องในฐานะนายหน้า จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยคำให้การของจำเลยมิได้ตั้งประเด็นเรื่องค่าเช่าว่า โจทก์จะต้องชำระค่าเช่าห้อง 312 ให้แก่จำเลยในฐานะคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้เช่าแทนเจ้าของห้องตามที่โจทก์อ้างในฎีกาก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นคำให้การที่ปฏิเสธความรับผิดตามคำฟ้องของโจทก์อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง การที่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นข้อพิพาทวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาว่า นางสาวมณีกานต์เป็นตัวแทนของจำเลยหรือเป็นนายหน้าของเจ้าของห้องหมายเลข 312 ในการนำห้องดังกล่าวออกให้โจทก์เช่า โดยมีประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 2 ที่ต่อเนื่องจากข้อแรกต่อไปอีกว่า จำเลยจะต้องคืนเงินจำนวนตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด และการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า นางสาวมณีกานต์เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยในการนำห้องหมายเลข 312 ออกให้โจทก์เช่า จึงถือได้ว่าโจทก์ได้เช่าห้องดังกล่าวจากจำเลยเพราะผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของห้องที่ให้เช่า ประกอบกับจำเลยมีวัตถุประสงค์ให้เจ้าของร่วมนำห้องที่จะให้เช่ามามอบให้จำเลยเป็นผู้บริหารจัดการเองเพื่อประโยชน์ต่อเจ้าของร่วมทุกคนตามสำเนาเอกสารหมาย จ.3 จำเลยจึงต้องผูกพันกับการเช่าห้องหมายเลข 312 ดังกล่าวต่อโจทก์ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทต่อไปอีกว่า จำเลยจะต้องรับผิดคืนเงินจำนวนตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้ ดังนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากตัวโจทก์และนางสาวมณีกานต์ว่า เมื่อโจทก์ขอคืนเงินในการเช่าห้องหมายเลข 312 โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดมีการผิดสัญญาและขอใช้สิทธิเลิกสัญญาแก่กัน จึงถือได้ว่านางสาวมณีกานต์ในฐานะตัวแทนของจำเลยยอมให้โจทก์ส่งมอบห้องหมายเลข 312 คืนเช่นนี้แล้ว ย่อมมีผลให้การเช่าห้องหมายเลข 312 เป็นอันเลิกกันและคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชำระค่าเช่าในระยะเวลาที่โจทก์อยู่ในห้องเช่าดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยนำเงินจำนวน 2,250 บาท เท่ากับระยะเวลาครึ่งเดือนไปหักออกจากเงินจำนวน 9,000 บาท ที่จำเลยรับไปจากโจทก์แล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องคืนให้แก่โจทก์จำนวน 6,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้น จึงเป็นคำวินิจฉัยที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีโดยตรง มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและขัดกับข้อเท็จจริงในสำนวนดังที่โจทก์ฎีกาโต้แย้ง นอกจากนี้ข้ออ้างในฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าห้องหมายเลข 312 กับจำเลยโดยนางสาวมณีกานต์เป็นตัวแทนของจำเลยเพราะโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในตัวจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมสัญญาเช่าว่า จำเลยเป็นเจ้าของห้องหมายเลข 312 สัญญาเช่าจึงเป็นโมฆะและไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ แก่จำเลย การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับนั้น จึงเป็นเรื่องที่โจทก์พยายามยกข้อเท็จจริงมาฟังสรุปให้แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังเป็นยุติดังกล่าวข้างต้นมาแล้วเพื่อเบี่ยงเบนให้เป็นข้อกฎหมายอีกเรื่องหนึ่งโดยอ้างในฎีกาขึ้นใหม่ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในตัวจำเลยว่า จำเลยเป็นเจ้าของห้องที่ให้เช่า ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยอีกด้วย เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 4 ว่าด้วยเรื่องเช่าทรัพย์นั้นมิได้มีบทบัญญัติใด ๆ ที่บังคับไว้ว่าผู้ให้เช่าจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 300 บาท แทนจำเลย

Share