แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การพิจารณาว่าจำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อตกลงแต่งตั้งผู้ประกอบการระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นสำคัญซึ่งระบุไว้ในข้อ 10 ของสัญญาดังกล่าวว่า “ในระหว่างระยะเวลาการเช่าตามข้อ 6 หากผู้ประกอบการไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไป หรือสัญญานี้เลิก หรือสิ้นสุดลงก่อนระยะเวลาตามข้อ 1 เนื่องจากความผิดของผู้ประกอบการ บริษัทบางจากฯ มีสิทธิที่จะจัดผู้อื่นเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทนโดยจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประกอบการ…” ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โจทก์ประสบภาวะขาดทุนโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยว่าไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไปขอให้จำเลยรีบดำเนินการจ่ายเงินชดเชยค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินและเงินชดเชยค่าก่อสร้างให้โจทก์ และเหตุที่โจทก์ประสบภาวะขาดทุนเป็นผลมาจากโจทก์ไม่สามารถซื้อน้ำมันจากจำเลยตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาจึงถูกจำเลยปรับ ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไปจึงเป็นผลมาจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิตามสัญญาข้อ 10 ที่จะจัดผู้อื่นเข้ามาดำเนินการแทนโดยจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประกอบการ สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิของฝ่ายจำเลยที่จะกระทำหรือไม่กระทำก็ได้เพราะข้อสัญญาไม่ได้บังคับไว้ เมื่อจำเลยไม่ใช้สิทธิดังกล่าว จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ในส่วนที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่ายินดีที่จะใช้สิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันต่อไปและชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ หนังสือนั้นจึงมีลักษณะเป็นคำสนองรับการไม่ประสบจะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากของโจทก์ แต่คำสนองของจำเลยดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญว่าจำเลยจะชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ และจำเลยจะจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อใช้สิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากจากโจทก์และจะนัดหมายโจทก์มาลงนามรับข้อตกลงต่อไป จึงเป็นคำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติมมีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไข ถือได้ว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับและเป็นคำเสนอใหม่ของจำเลยเมื่อโจทก์ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวและมีหนังสือโต้แย้งจำนวนค่าชดเชยและวิธีการคำนวณค่าชดเชย หนังสือดังกล่าวจึงเป็นการบอกปัดคำเสนอของจำเลย คำเสนอของจำเลยจึงสิ้นความผูกพัน
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 12 ไม่ให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ การที่จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 ก่อนวันที่ พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ จึงนำ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 9,990,243.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,031,499.99 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ทุกเดือนจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นและรับมอบคืนสถานีบริการน้ำมันบางจากตามสัญญา
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ส่งป้ายอุปกรณ์และทรัพย์สินที่จำเลยสนับสนุนตามสัญญาแต่งตั้งผู้ประกอบการให้แก่จำเลยจนครบถ้วนรวมทั้งถอดป้าย ลบตราเครื่องหมายการค้าของจำเลยออกจากสถานีบริการน้ำมัน ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 970,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระครบถ้วนหรือส่งคืนป้ายอุปกรณ์และทรัพย์สินรวมทั้งถอดป้าย ลบตราเครื่องหมายการค้าของจำเลยออกจากสถานีบริการน้ำมันครบถ้วน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ส่งคืนป้ายอุปกรณ์และทรัพย์สินที่จำเลยสนับสนุนตามสัญญาแต่งตั้งผู้ประกอบการคืนจำเลยรวมทั้งถอดป้าย ลบตราเครื่องหมายการค้าของจำเลยออกจากสถานีบริการน้ำมันและให้ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 135,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 30 ธันวาคม 2541) จนกว่าจะชำระครบถ้วนหรือส่งคืนป้ายอุปกรณ์และทรัพย์สินรวมทั้งถอดป้าย ลบตราเครื่องหมายการค้าของจำเลยออกจากสถานีบริการน้ำมันพิพาท กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 35,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่โจทก์จำเลยนำสืบไม่โต้แย้งกันว่า
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันบางจากมีกำหนด 20 ปี ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2538 มีการขยายระยะเวลาตามสัญญาเป็น 25 ปี และต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2540 และวันที่ 21 เมษายน 2541 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยว่าไม่ต้องการดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไป ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าจำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อตกลงแต่งตั้งผู้ประกอบการระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ข้อตกลงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยได้ระบุไว้ในข้อ 10 ของสัญญาดังกล่าวว่า “ในระหว่างระยะเวลาการเช่าตามข้อ 6 หากผู้ประกอบการไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไป หรือสัญญานี้เลิก หรือสิ้นสุดลงก่อนระยะเวลาตามข้อ 1 เนื่องจากความผิดของผู้ประกอบการ บริษัทบางจากฯ มีสิทธิที่จะจัดผู้อื่นเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทนโดย
จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประกอบการ…” ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โจทก์ประสบภาวะขาดทุน เดือนละประมาณ 100,000 บาท โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยว่าไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไป ขอให้จำเลยรีบดำเนินการจ่ายเงินชดเชยค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินและเงินชดเชยค่าก่อสร้างให้โจทก์ และเหตุที่โจทก์ประสบภาวะขาดทุนเป็นผลมาจากโจทก์ไม่สามารถซื้อน้ำมันจากจำเลยตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาจึงถูกจำเลยปรับ ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไปจึงเป็นผลมาจากความผิดของผู้ประกอบการคือโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิตามสัญญาข้อ 10 ที่จะจัดผู้อื่นเข้ามาดำเนินการแทนโดยจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประกอบการ สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิของฝ่ายจำเลยที่จะกระทำหรือไม่กระทำก็ได้เพราะข้อสัญญาไม่ได้บังคับไว้ เมื่อจำเลยไม่ใช้สิทธิดังกล่าว จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ในส่วนที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่ายินดีที่จะใช้สิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันต่อไปและชำระค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 5,520,000 บาท หนังสือนั้นจึงมีลักษณะเป็นคำสนองรับการไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากของโจทก์ แต่คำสนองของจำเลยดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญว่า จำเลยจะชำระค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 5,520,000 บาท และจำเลยจะจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อใช้สิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากจากโจทก์ และจะนัดหมายโจทก์มาลงนามรับข้อตกลงต่อไป จึงเป็นคำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไข ถือได้ว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับและเป็นคำเสนอใหม่ของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวและมีหนังสือโต้แย้งจำนวนค่าชดเชยและวิธีการคำนวณค่าชดเชย หนังสือดังกล่าวจึงเป็นการบอกปัดคำเสนอของจำเลย คำเสนอของจำเลยจึงสิ้นความผูกพัน ส่วนที่โจทก์ฎีกาทำนองว่า สัญญาแต่งตั้งผู้ประกอบการรายนี้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 12 ไม่ให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การที่จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ จึงนำพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายคือ ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ชำระให้จำเลยเหมาะสมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาและจำเลยตอบรับแล้ว สัญญาจึงเลิกกัน การที่โจทก์และจำเลยยังมีการซื้อขายน้ำมันต่อกันภายหลังสัญญาเลิกกันไม่มีผลให้สัญญาที่เลิกกันไปแล้วกลับเป็นสัญญาขึ้นใหม่ โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนป้ายอุปกรณ์และทรัพย์สินที่จำเลยสนับสนุน รวมทั้งถอดป้ายและลบเครื่องหมายการค้าของจำเลยออกจากสถานีบริการน้ำมัน เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการจำเลยย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย และค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดวันละ 1,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นอัตราที่เหมาะสม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.