คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6165/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ ข้อ 7 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ยังค้างชำระซึ่งเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีโดยอาศัยข้อตกลงอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดส่งดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนท้าย และข้อตกลงเช่นว่านี้หาใช่เป็นสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ที่ศาลจะมีอำนาจปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามมาตรา 383 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จำเลยที่ 1 เคยรับราชการประจำสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอโพธาราม สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดราชบุรี หน่วยงานของโจทก์ในตำแหน่งอาจารย์ 2 ระดับ 6 ณ โรงเรียนวัดท่ามะขาม เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ ระดับปริญญาโท สาขาวิชาประถมศึกษา ที่สถานศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำหนด 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2534 สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 มีเงื่อนไขว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องรายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อ หากจำเลยที่ 1 ไม่กลับเข้าปฏิบัติราชการจะต้องชดใช้เงินทุน เงินเดือนและเงินอื่นใดที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปทั้งหมดในระหว่างที่ศึกษาต่อกับเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ กรณีที่จำเลยที่ 1 กลับเข้าปฏิบัติราชการบ้างแต่ไม่ครบกำหนดเวลา จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินดังกล่าวโดยลดลงตามส่วนเวลาที่จำเลยที่ 1 กลับเข้าปฏิบัติราชการกับเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ และจะต้องใช้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชดใช้ จำเลยที่ 1 ยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระครบถ้วน และยินยอมให้โจทก์หักเงินบำเหน็จบำนาญหรือเงินอื่นใดที่จำเลยที่ 1 พึงได้รับจากทางราชการ เพื่อชดใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญา มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ตกลงแก้ไขสัญญาเป็นว่า จำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินคืนพร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ขยายเวลาศึกษาต่อ 2 ครั้ง สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 เข้ารับการศึกษา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2534 โดยได้รับเงินเดือนจากโจทก์ตลอดมาจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2537 จำเลยที่ 1 ได้รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการ ณ โรงเรียนวัดท่ามะขามหน่วยงานของโจทก์ รวมเวลาที่จำเลยที่ 1 ใช้ในการศึกษาต่อ 2 ปี 10 เดือน จำเลยที่ 1 รับเงินเดือนไปจากโจทก์ทั้งสิ้น 327,520 บาท จำเลยที่ 1 เข้าปฏิบัติราชการจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 แล้วลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2538 รวมเวลาที่จำเลยที่ 1 เข้าปฏิบัติราชการหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติราชการตามสัญญาเป็นเวลา 5 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา คงเหลือเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติราชการต่อไปอีก 4 ปี 4 เดือน และมีภาระหน้าที่ต้องชดใช้เงินเดือนที่ได้รับจากโจทก์ในระหว่างที่ไปศึกษาต่อเป็นเงิน 327,520 บาท เมื่อหักเวลาปฏิบัติราชการชดใช้แล้วคงเหลือเงินที่ต้องชดใช้จำนวน 250,456.48 บาท (ที่ถูกคือ 250,596.41 บาท) รวมเบี้ยปรับอีกสองเท่าเป็นเงิน 751,369.44 บาท ต่อมากระทรวงการคลังแจ้งว่ายอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ที่ถูกต้องคือ 751,789.24 บาท โจทก์นำเงินบำเหน็จที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจำนวน 282,240 บาท และเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ไว้ก่อนแล้วเป็นเงิน 185,491.86 บาท มาหักชำระคงเหลือเงินต้นที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระจำนวน 274,357.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาผ่อนชำระโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 202,949.67 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 477,307.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 274,357.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ในการเปลี่ยนแปลงสัญญาโดยกำหนดเบี้ยปรับเพิ่มอีกหนึ่งเท่า จำเลยทั้งสามอยู่ในภาวะจำยอมไม่สามารถปฏิเสธการทำสัญญาได้เนื่องจากเป็นข้าราชการ จึงเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เมื่อหักระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 รับราชการแล้ว การที่โจทก์ปรับจำเลยที่ 1 ตามสัญญารวมเบี้ยปรับ
อีกสองเท่าเป็นเงินรวม 751,789.24 บาท โดยเป็นเบี้ยปรับถึง 501,192.82 บาท เป็นจำนวนสูงกว่าปกติ จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินแก่โจทก์แล้วจำนวน 567,731.86 บาท ซึ่งโจทก์มีต้นเงินเพียง 250,456.48 บาท ดังนั้น คิดเป็นเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วจำนวน 317,275.38 บาท โจทก์จึงได้รับเบี้ยปรับไปพอสมควรแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังคิดดอกเบี้ยซ้อนเบี้ยปรับอีกร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 477,307.56 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 274,357.89 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 สิงหาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
ระหว่างอุทธรณ์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 58,759.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังมาและคู่ความมิได้
ฎีกาหรือแก้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เดิมจำเลยที่ 1 รับราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ 2 ระดับ 6 ประจำอยู่โรงเรียนวัดท่ามะขาม สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอโพธาราม สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานของโจทก์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ ระดับปริญญาโท สาขาประถมศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับโจทก์มีกำหนด 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 จะรายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการในทันทีและจะปฏิบัติราชการต่อไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์ กรณีไม่กลับเข้ารับราชการเลยยินยอมชดใช้เงินทุน เงินเดือน ที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปทั้งหมดในระหว่างที่ศึกษาต่อกับเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ หากกลับมารับราชการบ้าง แต่ไม่ครบกำหนดเวลายินยอมชดใช้เงินโดยลดลงตามส่วนของเวลาที่จำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการกับเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินและเบี้ยปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ครบถ้วน จำเลยที่ 1 ยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของจำนวนเงินที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระครบถ้วนตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ ในวันเดียวกันนั้นมีจำเลยที่ 2 ค้ำประกัน โดยจำเลยที่ 2 ตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้เงินกับเบี้ยปรับดังกล่าวทันทีโดยไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน ตามสัญญาค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาโดยจำเลยที่ 1 ตกลงว่า หากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ยินยอมจ่ายเบี้ยปรับเป็น 2 เท่าของจำนวนเงินที่ต้องชดใช้คืน โดยมีจำเลยที่ 2 ค้ำประกัน หลังจากนั้นได้มีการขยายเวลาศึกษาต่ออีก 2 ครั้ง ครบกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2537 โดยมีจำเลยที่ 2 ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2537 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ลาไปศึกษาต่อเป็นเวลา 2 ปี 10 เดือน รับเงินเดือนไปทั้งสิ้น 327,520 บาท จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติราชการเป็นเวลา 2 เท่า ของเวลาที่ไปศึกษาต่อเป็นเวลา 5 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 1 ปฏิบัติราชการหลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน เป็นเงินส่วนลด 76, 923.59 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระคืน 250,596.41 บาท โจทก์คิดเบี้ยปรับ 2 เท่าตามสัญญาเป็นเงิน 501,192.82 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระทั้งสิ้น 751,789.23 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท ส่วนที่เหลือทำสัญญาขอผ่อนชำระงวดละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2 ค้ำประกันตามสัญญาผ่อนชำระและสัญญาค้ำประกัน เดือนกุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินบำเหน็จจำนวน 282,240 บาท โจทก์นำมาหักหนี้ วันที่ 18 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระให้โจทก์อีก 185,491.86 บาท ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ได้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาผ่อนชำระโดยนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระ 100,000 บาท และเงินบำเหน็จ 282,240 บาท มาหักจากยอดหนี้ 751,789.24 บาท ส่วนที่เหลือขอผ่อนชำระ โดยผ่อนชำระปีละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมีจำเลยที่ 3 ค้ำประกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกมีว่า มีเหตุสมควรลดเบี้ยปรับตามสัญญาหรือไม่ เห็นว่า กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือที่ กค 0518.8/3525 ฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2545 ถึงเลขาธิการโจทก์แจ้งเหตุผลการที่แบบสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ ที่กำหนดให้ข้าราชการผู้ผิดสัญญาต้องจ่ายเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินที่ต้องชดใช้มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “…เนื่องจากภาครัฐได้ประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถเข้ามาทำงานกับทางราชการ เมื่อรัฐได้จัดสรรทุนหรืออนุมัติให้ข้าราชการไปศึกษาเพิ่มเติมก็เพื่อให้บุคลากรของรัฐเหล่านั้นกลับมาพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์การชดใช้ทุนให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ต้องการให้ได้มาซึ่งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณภาพที่ดีมาทำงานภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว การกำหนดค่าปรับ (เบี้ยปรับ) ในอัตราสูงจึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ต้องนำมาใช้กับผู้ผิดสัญญา…” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่รัฐจำเป็นต้องกำหนดเบี้ยปรับไว้อย่างสมเหตุสมผลและภาครัฐก็ได้บังคับใช้ข้อกำหนดเบี้ยปรับเช่นนี้ในแบบสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติกับข้าราชการทุกคนและทุกส่วนราชการอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน หาได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ผิดแผกแตกต่างกับข้าราชการคนอื่น ๆ ที่ผิดสัญญากับทางราชการไม่ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็ลาออกจากราชการด้วยความสมัครใจ โดยขณะยื่นใบลาออก จำเลยที่ 1 ก็ทราบและตระหนักถึงภาระที่จะต้องชดใช้ทุนและเบี้ยปรับตามสัญญาให้แก่โจทก์อยู่แล้วด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่จำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาตามที่ได้ลาไปศึกษาต่อแล้ว จำเลยที่ 1 กลับมารับราชการใช้หนี้บางส่วนแล้วเป็นเวลาเกือบหนึ่งในสี่ของกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับราชการใช้หนี้โจทก์ต่อไปตามสัญญาว่า เป็นเหตุสมควรปรับลดเบี้ยปรับลงหนึ่งในสี่ของจำนวนเบี้ยปรับ นั้น เห็นว่า ตามแบบสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติเอกสารหมาย จ.8 ได้ยกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 6 เดิมและใช้ข้อความใหม่แทนว่า
“ข้อ 6 ในกรณีที่ข้าพเจ้าผิดสัญญาในข้อ 4 หรือข้าพเจ้าไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี ข้าพเจ้าจะชดใช้คืนให้แก่ผู้รับสัญญาซึ่งทุน และหรือเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม และหรือเงินอื่นใดทั้งสิ้นที่ข้าพเจ้าได้รับจากทางราชการในระหว่างเวลาที่ได้รับอนุมัติไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ นอกจากนี้ข้าพเจ้าจะจ่ายเงินเป็นเบี้ยปรับให้แก่ผู้รับสัญญาอีกสองเท่าของเงินที่ข้าพเจ้าจะต้องชดใช้คืน
ในกรณีที่ข้าพเจ้ารับราชการบ้างแต่ไม่ครบเวลาดังกล่าวในข้อ 4 เงินที่จะชดใช้คืนและเบี้ยปรับตามวรรคก่อน จะลดลงตามส่วนของเวลาที่ข้าพเจ้ารับราชการตามนัยข้อ 4 ไปบ้าง”
ซึ่งขณะเข้าทำสัญญา จำเลยที่ 1 ทราบข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับเช่นว่านี้และสมัครใจลงชื่อในสัญญาด้วยความเต็มใจ การที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการก็ด้วยความสมัครใจและตระหนักดีอยู่แล้วว่า ตนมีภาระต้องชดใช้ทุนและเบี้ยปรับให้แก่หน่วยงานตามสัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 6 วรรคสอง ดังกล่าวได้กำหนดข้อตกลงไว้ชัดแจ้งถึงการผ่อนปรนในการปรับลดจำนวนเงินที่จะต้อง
ชดใช้คืนและเบี้ยปรับลงตามส่วนของเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับราชการชดใช้ทุนไปบ้าง ซึ่งก็เป็นข้อตกลงแห่งสัญญาที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทุกฝ่ายดีอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะนำระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติราชการใช้ทุนให้แก่โจทก์มาพิจารณาปรับลดเบี้ยปรับลงอีก ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีอำนาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาลงได้หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 7 ระบุว่า “เงินที่ต้องชดใช้คืนกับเบี้ยปรับตามสัญญานี้ ข้าพเจ้าจะชำระให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากกรม…สปช… หากข้าพเจ้าไม่ชำระให้ครบถ้วนภายในกำหนดดังกล่าว ทั้งนี้จะโดยความยินยอมของกรม…สปช…หรือไม่ก็ตาม ข้าพเจ้ายอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ยังค้างชำระจนกว่าจะชำระครบถ้วน” ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้นเป็นข้อตกลงที่เกิดจากจำเลยที่ 1 ให้สัญญาแก่โจทก์ว่าจะยอมชดใช้เงินและเบี้ยปรับตามสัญญานี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ อันเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่คู่สัญญาได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ซึ่งถ้าจำเลยที่ 1 ลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และผลของการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดนั้น มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็คงให้ส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น” เมื่อสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 7 มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ยังค้างชำระ ซึ่งเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยอาศัยข้อตกลงอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดส่งดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวแก่โจทก์ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนท้าย ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นและข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 7 เช่นว่านี้ หาใช่เป็นสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ที่ศาลจะมีอำนาจปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามมาตรา 383 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ถือว่าเป็นส่วนหนี่งของเบี้ยปรับเพราะเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าซึ่งสูงเกินส่วน จึงพิจารณาปรับลดลงเป็นอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นั้น ศาลฎีกาก็ไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ก็ฟังขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ คดีจึงอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ แต่เมื่อคดีมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและข้อเท็จจริงปรากฎจากคำร้องของผู้ร้องว่าพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ให้โอนกิจการของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติไปเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 64 ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ และคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้เพียงบางส่วน โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงต้องนำจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 มาคำนวณหักออก แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาเต็มจำนวนตามฟ้องที่โจทก์ขอบังคับ โดยมิได้นำจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 มาคำนวณหักออก จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่ชำระเกินให้แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับและให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์ชำระเกินมาให้แก่โจทก์

Share