แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลถูกแทงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้ตายหลังจากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ต่อยจนเซไปแล้วและจำเลยที่ 2 แยกไปทำร้าย พ. โดยไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 แต่โดยลำพังพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงแต่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายเท่านั้นแต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก อยู่ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 92, 288, 371 ริบอาวุธมีดของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายเนื่องจากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4142/2545 ของศาลจังหวัดมหาสารคามให้จำคุก 9 เดือน ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 มีอายุเกินสิบเจ็ดปีแล้วและภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษกลับมากระทำผิดคดีนี้อีก
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุผลสมควร ส่วนข้อหาอื่นให้การปฎิเสธ แต่รับว่าทำร้ายผู้ตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
จำเลยที่ 2 ให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 371 อีก 2 กระทง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 15 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 20 ปี ฐานพาอาวุธ ฯ ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 100 บาท
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน และปรับ 133.32 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าเหตุเกิดจากผู้ตายเมาสุราส่งเสียงดัง ผู้ตายไปขอซื้อบุหรี่ทั้งซองจากจำเลยที่ 2 ในราคา 10 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมขายผู้ตายด่าว่า “เย็ดแม่” ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 โกรธ การถูกด่าดังกล่าวไม่ใช่เหตุเล็กน้อย หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองออกไปนั่งรอที่โต๊ะหน้าร้านที่เกิดเหตุโดยมีพวกของจำเลยทั้งสองประมาณ 3 คน ร่วมสมทบด้วย เมื่อผู้ตายกับพวกเดินออกจากร้าน จำเลยทั้งสองกับพวกตามไปรุมแทงและทุบตีทันที การกระทำดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเป็นการคบคิดฆ่าผู้ตายแล้ว อีกทั้งผู้ตายกับพวกเมาสุรา ไม่มีอาวุธ ไม่คิดต่อสู้ เอาแต่วิ่งหนี ถ้าจำเลยทั้งสองกับพวกคิดจะทำร้ายผู้ตายเพื่อสั่งสอนก็ควรทำร้ายด้วยการชกต่อยเท่านั้น เห็นว่า ฝ่ายผู้ตายกับฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ที่ผู้ตายไปขอซื้อบุหรี่ทั้งซองในราคาเพียง 10 บาท จากจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมขายให้ก็ด่าว่า ย่อมเป็นการเข้าไปก่อเรื่องของผู้ตาย ถ้าจำเลยที่ 2 โกรธเคืองมากก็คงไม่ให้บุหรี่แก่ผู้ตายไปบ้าง ขณะที่อยู่ในร้านผู้ตายเมาสุราส่งเสียงดังโวยวายรบกวนแขกในร้าน จนเจ้าของร้านทนไม่ไหวไปขอร้องผู้ตายให้กลับบ้าน แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองจะออกไปนั่งที่โต๊ะนอกร้านซึ่งมีบุคคล 3 คน นั่งอยู่ก่อนแล้ว เมื่อผู้ตายกับพวกเดินออกจากร้านก็ถูกรุมทำร้าย การเข้ารุมทำร้ายอาจเนื่องจากผู้ตายเข้าไปก่อความวุ่นวายในร้านจนทำให้คนในร้านไม่พอใจ ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฎว่าพวกที่เข้ารุมทำร้ายผู้ตายกับพวกทราบก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธมีด นอกจากนี้ไม้ที่ใช้ทำร้ายผู้ตายกับพวกก็มิใช่เป็นไม้ที่พวกที่รุมทำร้ายเตรียมไว้ก่อนเกิดเหตุ นายจินดารัตน์ พยานโจทก์ไม่เห็นว่าใครแทงผู้ตายและใครเป็นผู้ที่ตีพยาน ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า พยานเห็นจำเลยที่ 1 วิ่งเข้ามาเป็นคนแรกและต่อยบริเวณใบหน้าผู้ตายทำให้ผู้ตายเซไป แล้วจำเลยที่ 2 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายผู้ตายโดยจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้ตาย เมื่อเห็นผู้ตายถูกรุมพยานวิ่งหนีไปยืนอยู่ที่หน้าหมู่บ้านลลิลกรีนวิลล์ เห็นจำเลยที่ 1 ถืออาวุธมีดวิ่งเข้าไปแทงผู้ตาย พยานกับพวกจึงกลับไปช่วยผู้ตายจนถูกจำเลยที่ 2 กับพวกทำร้ายโดยจำเลยที่ 2 ใช้ขวดตีพยานแต่ไม่ถูกจึงกลับไปหน้าร้านที่เกิดเหตุแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกขึ้นรถแท็กซี่หลบหนีไป จากคำเบิกความของนายพงษ์ศักดิ์จะเห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำร้ายผู้ตายหลังจากจำเลยที่ 1 ต่อยผู้ตายมิใช่ในขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตาย แต่ในขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายกลับปรากฏว่าเป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ 2 กับพวกเข้าทำร้ายนายพงษ์ศักดิ์ ซึ่งจำเลยที่ 2 อาจไม่ทราบว่าในขณะนั้นผู้ตายถูกแทงและหลังจากจำเลยที่ 2 ใช้ขวดตีนายพงษ์ศักดิ์ไม่ถูกแล้วก็วิ่งกลับไปทันทีมิได้ทำร้ายหรือขัดขวางมิให้นายพงษ์ศักดิ์เข้าไปช่วยผู้ตายอีก ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 รุมทำร้ายผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายมาก่อกวนขอซื้อบุหรี่ไม่คิดจะฆ่าผู้ตาย ไม่ทราบว่าผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงเนื่องจากไม่เห็นเหตุการณ์ และจำเลยที่ 1 ไม่ได้บอกให้ทราบ หลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน จำเลยที่ 2 ยังไปที่ร้านที่เกิดเหตุจนถูกจับกุม ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิได้คบคิดกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลถูกแทงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้ตายหลังจากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ต่อยจนเซไปแล้วและจำเลยที่ 2 แยกไปทำร้ายนายพงษ์ศักดิ์ โดยไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 แต่โดยลำพัง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงแต่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายเท่านั้น แต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก คดีนี้แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก อยู่ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เนื่องจากจำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 9 เดือน ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4142/2545 ของศาลจังหวัดมหาสารคาม และกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษนั้นปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนี้ เมื่อความผิดที่ศาลล่างทั้งสองจำคุกจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษได้พ้นไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น 15 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์