คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การแก้ไขคำฟ้องในคดีผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติว่า “หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้” การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลย กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2553 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีคนร้ายวางเพลิงเผาทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ก่อนยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจากคำว่าวันที่ 24 เมษายน 2553 โดยขอเพิ่มเติมข้อความว่า “และโจทก์ยังได้ต่ออายุสัญญากรมธรรม์ประกันภัยกับจำเลยโดยเริ่มคุ้มครองวันที่ 24 เมษายน 2553 ครบระยะเวลา 1 ปี ในวันที่ 24 เมษายน 2554 ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังอยู่ในอายุสัญญากรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย” ดังนี้ เมื่อคดีนี้โจทก์เป็นผู้บริโภคและได้ดำเนินคดีนี้มาอย่างคดีผู้บริโภค ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ศาลตรวจคำฟ้องของผู้บริโภคด้วยว่า” หากเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้” และตามคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องมานั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลก็อาจมีคำสั่งให้โจทก์นั้นแก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้ แม้ในคดีนี้โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเข้ามาเองก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะแก้ไขคำฟ้องในคดีผู้บริโภคที่ขาดสาระสำคัญนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นการขอแก้ไขก่อนจำเลยยื่นคำให้การ ภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด อีกทั้งปัญหาดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นได้อยู่แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แล้วจะมาแก้ไขให้สมบูรณ์นั้นไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 จึงไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 วรรคสองดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ตามคำร้องที่ขอเพิ่มเติมฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง “พิเคราะห์แล้วอนุญาต สำเนาให้อีกฝ่าย” ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย และคัดค้านกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบว่า ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง “ให้เพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่เป็นไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง”
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติว่า “หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้” ซึ่งโจทก์ในคดีนี้เป็นผู้บริโภคและได้ดำเนินคดีนี้มาอย่างคดีผู้บริโภค โดยเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลมีอำนาจในการสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นได้ แม้กรณีดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องมาเองก็ตาม แต่ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ก็ระบุขอเพิ่มเติมฟ้องในข้อ 2 ย่อหน้าที่ 5 จากข้อความว่า “เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 สิ้นสุดวันที่ 24 เมษายน 2553” ขอเพิ่มเติมข้อความต่อไปว่า “และโจทก์ยังได้ต่ออายุสัญญากรมธรรม์ประกันภัยกับจำเลยโดยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2553 ครบระยะเวลา 1 ปี ในวันที่ 24 เมษายน 2554 ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังอยู่ในอายุสัญญากรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบในความคุ้มครองตามสัญญาดังกล่าวด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับคู่ฉบับกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จะขอนำเสนอในชั้นพิจารณาต่อไป” จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มีความประสงค์จะทำให้คำฟ้องที่ขาดสาระสำคัญนั้นถูกต้องหรือชัดเจนขึ้น และเป็นการแก้ไขก่อนจำเลยยื่นคำให้การ ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทั้งที่ปัญหาดังกล่าวก็เป็นเรื่องศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นได้อยู่แล้ว ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจึงไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งพร้อมคำพิพากษาต่อไป

Share