คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 644/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่1 มกราคม 2531 แต่โจทก์ก็ยังกล่าวอ้างต่อไปว่าจำเลยเลิกจ้าง โจทก์เพราะเกษียณอายุ เช่นนี้ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุหรือไม่ จำเลยมีหนังสือแจ้งต่อโจทก์ว่า โจทก์จะต้องเกษียณอายุในเดือนพฤศจิกายน 2529 และยังมีหนังสือแจ้งต่อโจทก์เกี่ยวกับการเกษียณอายุว่า “ตามนโยบายของบริษัทท่านได้บรรลุถึงการเกษียณอายุในวันที่ 2พฤศจิกายน 2529…” เช่นนี้ ตามหนังสือดังกล่าวย่อมแปลความ ได้ว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุแล้วตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2529 เมื่อปรากฏว่าจำเลยยังไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลย จึงต้องจ่ายค่าชดเชย ให้ แก่โจทก์ เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เมื่อเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุอยู่แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งคำวินิจฉัย ของศาลแรงงานกลางว่า การที่จำเลยไม่ต่ออายุสัญญาจ้าง ให้โจทก์หลังจากครบกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน เป็นการเลิกจ้าง ตามกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2521 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ประธานบริษัท ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,000 บาทต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2531จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด โดยจำเลยอ้างเหตุเกษียณอายุ 55 ปี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้โจทก์ อนึ่งการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จำเลยจะต้องจ่ายในระยะเวลา 4 ปี ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้แก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2521 จนปลายปี พ.ศ. 2529 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 แจ้งว่าโจทก์จะอายุครบ 56 ปี และเกษียณอายุในเดือนพฤศจิกายน 2529 เนื่องจากโจทก์ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลานาน คณะกรรมการบริษัทจำเลยจึงแต่งตั้งโจทก์เป็นประธานบริษัทซึ่งจะมาทำงานเป็นบางเวลา พร้อมกันนั้นจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 กำหนดว่าโจทก์จะเกษียณอายุในวันที่ 2พฤศจิกายน 2529 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทจำเลยบริษัทจำเลยจะจ่ายเงินแก่โจทก์จากเดือนธันวาคม 2529 ถึงเดือนธันวาคม2530 พร้อมทั้งเสนอรายการเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โจทก์ได้ลงชื่อในเอกสารดังกล่าวและได้ปฏิบัติงานตลอดมาจนเมื่อวันที่1 มกราคม 2531 โจทก์ไม่ได้ไปทำงานเพราะจำเลยไม่ได้ต่อสัญญาให้โจทก์อีกและไม่ได้จ่ายค่าชดเชย แต่ตามเอกสารหมาย จ.3 และจ.5 ที่จำเลยมีถึงโจทก์นั้นไม่ใช่หนังสือเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุและตามเอกสารหมาย จ.5 ไม่มีข้อกำหนดว่าพ้นวันที่ 31 ธันวาคม2530 แล้ว โจทก์จะต้องพ้นจากหน้าที่ไปโดยไม่มีการต่ออายุสัญญาอีกการที่จำเลยไม่ต่อสัญญาให้โจทก์ย่อมเป็นการไม่ยอมให้โจทก์ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ แต่ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.5 เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนซึ่งครบกำหนดระยะเวลาการจ้างเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2530 โจทก์ได้ออกจากงานเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้าง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2531 แต่โจทก์ก็ยังกล่าวอ้างต่อไปว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุ จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุหรือไม่ ปัญหานี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.3 แจ้งต่อโจทก์ว่า โจทก์จะต้องเกษียณอายุในเดือนพฤศจิกายน 2529 และยังมีเอกสารหมาย จ.5 แจ้งต่อโจทก์เกี่ยวกับการเกษียณอายุว่า “ตามนโยบายของบริษัทท่านได้บรรลุถึงการเกษียณอายุในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2529…” ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเอกสารดังกล่าวแปลความได้ว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุแล้วตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2529 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียษอายุในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2529จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปรากฏว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2529 โดยไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เมื่อเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2529 อยู่แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า การที่จำเลยไม่ต่ออายุสัญญาจ้างให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 หลังจากครบกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2531 เป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาจ้างแน่นอนโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.

Share