คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5869/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ต่อมามี พ.ร.ฎ.ยุบเลิกหน่วยงานจำเลยที่ 1 แต่ให้คงอยู่ในระหว่างชำระบัญชี เมื่อจำเลยที่ 1 ยุบกิจการได้เลิกจ้างโจทก์และจ่ายค่าชดเชยหลังหักหนี้ที่โจทก์มีอยู่กับจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีได้จ้างโจทก์เป็นผู้ช่วยในการชำระบัญชีโดยไม่ได้กำหนดเวลาจ้างกันไว้ เพียงกำหนดภารกิจให้ช่วยชำระบัญชีจนเสร็จเท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 อุทธรณ์ว่า ในขณะที่ พ.ร.ฎ.ยุบเลิกจำเลยที่ 1 นั้น กิจการของจำเลยที่ 1 ยังไม่เสร็จสิ้น โจทก์จึงต้องทำงานต่อไปจนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จโดยยังคงเป็นพนักงานต่อไปตามเดิม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โดยสำคัญผิด เพราะโจทก์ยังไม่ได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จนกระทั่งเมื่อมีการชำระบัญชีเสร็จสิ้นจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์และถือว่าค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับโดยไม่มีสิทธิแต่แรกนั้นเป็นค่าชดเชยเมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างในภายหลัง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงตกอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้อง คดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นการอ้างบทกฎหมายคลาดเคลื่อน แต่พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสิบสอง ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อันเป็นกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฉบับเดิมและยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 95 เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างในการช่วยชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2542 โดยไม่ได้กำหนดเวลาจ้างไว้ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท และถูกเลิกจ้างโดยมีผลในวันที่ 30 เมษายน 2545 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งเลิกจ้างไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ข้อ 45 (3) เป็นเงิน 42,000 บาท และตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้ แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองในสำนวนหลังต่อจากจำเลยทั้งสิบในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 11 และที่ 12 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกายุบเลิกจำเลยที่ 1 แต่ให้คงอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีและแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชี ในวันที่ 1 มกราคม 2542 คณะกรรมการดังกล่าวจ้างโจทก์เพื่อเป็นผู้ช่วยในการชำระบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ 7,000 บาท เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2545 ให้เหตุผลว่าการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการลุล่วงไปแล้วหลายส่วน จึงไม่จำเป็นต้องจ้างโจทก์ต่อไป แต่จำเลยทั้งสิบสองไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โจทก์ทำงานมาเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค้าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 42,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองจ่ายค่าชดเชยจำนวน 42,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสิบสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีกเนื่องจากโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 มาก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกายุบเลิกจำเลยที่ 1 และยังเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ต่อเนื่องมาแม้จะมีพระราชกฤษฎีกายุบเลิกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษแก่โจทก์ไปก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยให้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม การจ้างโจทก์เพื่อช่วยในการดำเนินการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีลักษณะการจ้างเป็นครั้งคราว มีกำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างแน่นอนซึ่งโจทก์ก็ทราบเจตนาการจ้างดังกล่าวแล้ว เมื่อการชำระบัญชีในส่วนที่โจทก์ต้องทำงานสำเร็จลุล่วงไปแล้วจำเลยทั้งสิบสองจึงบอกเลิกจ้างโจทก์ได้ การเลิกจ้างนี้เป็นการเลิกจ้างตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 วรรคสอง อันเป็นการสิ้นสุดตามสัญญาจ้างแรงงานที่ตกลงกันไว้มิใช่เป็นการเลิกจ้างตามความแห่งข้อ 45 วรรคแรก โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 42,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2526 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 23,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 มีพระราชกฤษฎีกายุบเลิกหน่วยงานจำเลยที่ 1 แต่ให้คงอยู่ในระหว่างชำระบัญชีและตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชี เมื่อจำเลยที่ 1 ยุบกิจการได้เลิกจ้างโจทก์และจ่ายค่าชดเชยหลัง หักหนี้ที่โจทก์มีอยู่กับจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2542 คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีได้จ้างโจทก์เป็นผู้ช่วยในการชำระบัญชีโดยไม่ได้กำหนดเวลาจ้างกันไว้ เพียงกำหนดภารกิจให้ช่วยชำระบัญชีจนเสร็จเท่านั้น ให้ค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท วันที่ 22 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการผู้ชำระบัญชีมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 30 เมษายน 2545 อ้างเหตุว่าการชำระบัญชีดำเนินลุล่วงแล้วหลายส่วน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจ้างโจทก์อีกต่อไป จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 อุทธรณ์ประการแรกว่า ในขณะที่พระราชกฤษฎีกายุบเลิกจำเลยที่ 1 นั้น กิจการของจำเลยที่ 1 ยังไม่เสร็จสิ้น โจทก์จึงต้องทำงานต่อไปจนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จโดยยังคงเป็นพนักงานต่อไปตามเดิม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โดยสำคัญผิด เพราะโจทก์ยังไม่ได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จนกระทั่งเมื่อมีการชำระบัญชีเสร็จสิ้นจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์ และถือว่าค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับโดยไม่มีสิทธิแต่แรกนั้นเป็นค่าชดเชยเมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างในภายหลัง เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 อุทธรณ์ว่า การพิจารณาค่าชดเชยของโจทก์จะต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 มิใช่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้องคดีนี้ จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นการอ้างบทกฎหมายคลาดเคลื่อน แต่พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสิบสอง ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 อันเป็นกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฉบับเดิม และยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 95 เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างในการช่วยชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2542 โดยไม่ได้กำหนดเวลาจ้างไว้ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท และถูกเลิกจ้างโดยมีผลในวันที่ 30 เมษายน 2545 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งเลิกจ้างไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 (3) เป็นเงิน 42,000 บาท และตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้ แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share