คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 269/5, 269/7, 334 และให้จำเลยคืนบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ได้คืนหรือชดใช้ราคา 150 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5 ประกอบด้วยมาตรา 269/7, 334 การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวคือต้องการได้เงินของผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/7 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ได้คืนหรือชดใช้ราคา 150 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 2 กรรม แต่ไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษเป็น 2 กรรม และเรียงกระทงลงโทษให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 และพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และมาตรา 334 กระทงหนึ่ง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทหนัก และจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 กับมาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นบทหนัก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่า ภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริตในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 คือ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรมหาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยลักเอาไปจากผู้เสียหายไปใช้เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเป็นจำนวนถึง 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 92,640 บาท นับเป็นเงินจำนวนมาก กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลย ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ตามพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ปรากฏจากคำร้องของผู้เสียหาย และฎีกาของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้แก้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านเป็นอย่างอื่นได้ความว่า เหตุเกิดจากผู้เสียหายนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติแล้วลืมรับบัตรจากเครื่องกลับไป จำเลยกระทำความผิดคดีนี้โดยมิได้มีลักษณะเป็นการวางแผนไตร่ตรองไว้ก่อนหรือมีลักษณะการกระทำเป็นขบวนการเพื่อลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นไปใช้เบิกถอนเงินหรือนำไปฉ้อโกงผู้อื่น อันจะเป็นภัยร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของชาติ ประกอบกับจำเลยได้ชดใช้เงินจำนวน 92,640 บาท คืนให้แก่ผู้เสียหายจนผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยแล้ว ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำคุกจำเลย 4 ปี ก่อนลดโทษนั้นจึงหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 2 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share