แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยหลายรายการเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามอันมีผลให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายอุทธรณ์ชนะในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 251 (เดิม) ซึ่งบังคับใช้ในขณะยื่นฟ้อง จำเลยจะยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือคืนเงินจำนวนที่วางไว้ต่อศาลในข้อนั้น ๆ ก็ได้ แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามยังฎีกา โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกากำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ด้วยการมีคำสั่งให้การบังคับคดียังคงมีผลต่อไป และศาลฎีกาได้มีคำสั่งคำร้องที่ 1315/2556 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 ว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ก็มิใช่คำพิพากษาถึงที่สุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) เพราะโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยังฎีกาอยู่ การยึดและอายัดทรัพย์สินจึงยังคงมีผลอยู่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 85,650,767.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินของโจทก์แต่ละคน นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 100,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ขอให้ออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยหลายรายการเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างฎีกาขอให้การบังคับคดียังคงมีผลต่อไป คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
จำเลยยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งถอนการยึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลย และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความร่วมกันแถลงรับเพียงพอต่อการมีคำสั่งแล้ว จึงให้งดไต่สวน และวินิจฉัยว่า หากมีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์ตามคำร้องของจำเลยอาจมีผลกระทบต่อคดี เนื่องจากอยู่ระหว่างส่งสำนวนให้ศาลฎีกามีคำสั่งคำร้องขอคุ้มครองของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ในชั้นนี้เห็นควรให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 สำหรับที่จำเลยขอให้ถอนการยึดให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ถอนการยึดและอายัดทรัพย์สินตามคำร้องของจำเลย ให้โจทก์ผู้นำยึดหรืออายัดเสียค่าธรรมเนียมยึดหรืออายัดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายสำหรับทรัพย์สินรายการที่ตนเป็นผู้นำยึดหรืออายัด ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า มีเหตุที่จะให้ถอนการยึดและการอายัดทรัพย์สินของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยหลายรายการเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามอันมีผลให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายอุทธรณ์ชนะในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 251 (เดิม) ซึ่งบังคับใช้ในขณะยื่นฟ้อง จำเลยจะยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือคืนเงินจำนวนที่วางไว้ต่อศาลในข้อนั้นๆ ก็ได้ แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามยังฎีกา โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกากำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ด้วยการมีคำสั่งให้การบังคับคดียังคงมีผลต่อไป และศาลฎีกาได้มีคำสั่งคำร้องที่ 1315/2556 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 ว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ก็มิใช่คำพิพากษาถึงที่สุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 (3) เพราะโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยังฎีกาอยู่ การยึดและอายัดทรัพย์สินจึงยังคงมีผลอยู่ โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่จำต้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้การบังคับคดีมีผลต่อไปอีก ดังนี้ จึงไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 251 (เดิม) ซึ่งบังคับใช้ในขณะยื่นฟ้อง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ถอนการยึดและอายัดทรัพย์สินตามคำร้องของจำเลย โดยให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดียึดแล้วไม่มีการขายนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ