แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ส่วนที่โจทก์บรรยายครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 และมาตรา 5 ซึ่งชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องในทำนองว่า นอกจาก ธ. และจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังชักชวนผู้อื่นให้ไม่ยื่นซองเสนอราคาด้วย และให้หรือขอให้เงินจำนวน 40,000 บาท ในลักษณะตอบแทนด้วยนั้น เป็นเพียงการขยายความ ซึ่งถึงแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าผู้อื่นดังกล่าวนั้นเป็นใคร มีจำนวนกี่คนก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์ที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วจะกลับเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 5 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 และริบเงินจำนวน 40,000 บาท ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 วรรคสอง, 5 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราช บัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 5 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 6 เดือน ริบเงินจำนวน 40,000 บาท ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกมีตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดว่าเป็นใครและเกี่ยวข้องอย่างไร ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องทำนองว่าจำเลยที่ 1 เป็นธุระในการชักชวน นายธานินทร์ ผู้กล่าวหา และจำเลยที่ 2 ให้ตกลงร่วมกันไม่ยื่นซองเสนอราคา และจำเลยที่ 1 บังอาจให้หรือขอให้เงินจำนวน 40,000 บาท แก่นายธานินทร์ และจำเลยที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจูงใจนายธานินทร์ และจำเลยที่ 2 ไม่ให้เข้าร่วมในการยื่นซองเสนอราคาอันเป็นการให้ประโยชน์แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ.เกียรติณรงค์ชัย เอ็นจิเนียริ่ง กับบริษัทเอ.วี.เอ็น มอเตอร์เวิร์ก จำกัด และบริษัทมิตซูอยุธยา (ไทยธาดา) จำกัด ให้ได้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา และจำเลยที่ 2 ยอมรับเงินจากจำเลยที่ 1 เพื่อไม่ยื่นซองเสนอราคาดังกล่าว ดังนี้ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องในทำนองว่า นอกจากนายธานินทร์ และจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังชักชวนผู้อื่นให้ไม่ยื่นซองเสนอราคาด้วย และให้หรือขอให้เงินจำนวน 40,000 บาท ในลักษณะตอบแทนด้วย นั้น เป็นเพียงการขยายความ ซึ่งถึงแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าผู้อื่นดังกล่าวนั้นเป็นใคร มีจำนวนกี่คนก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์ที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วจะกลับเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์บรรยายครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 และมาตรา 5 แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นในคดีนี้ โดยจำเลยที่ 1 เป็นธุระชักชวนผู้อื่นให้ตกลงที่จะไม่เข้าเสนอราคาโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้เงินและขอให้เงินแก่ผู้ที่ยอมทำตามที่จำเลยที่ 1 ต้องการ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดร้ายแรง สมควรปราบปรามอย่างเข้มงวดเด็ดขาด ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ก่อหรือริเริ่ม เป็นธุระชักชวนให้เกิดการกระทำความผิด จำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ถูกจำเลยที่ 1 ชักชวนให้กระทำความผิด ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ทั้งประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงตามใบรับรองแพทย์ท้ายฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ไม่แก้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 2 ป่วยเป็นเนื้องอกในสมองหลายจุด ต้องไปพบแพทย์สม่ำเสมอ กรณีจึงมีเหตุสมควรให้ความปรานีและให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2 ที่จะกลับตนเป็นคนดี โดยการรอการลงโทษจำคุกให้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติบังคับให้กำหนดโทษปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุด ซึ่งในคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 1 ของพนักงานคุมประพฤติว่า เป็นจำนวนเงินสูงถึงประมาณ 30 ล้านบาท หากศาลกำหนดโทษปรับจำเลยที่ 2 ด้วย ก็จะเป็นโทษปรับที่สูงเกินไปกว่าพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดไว้ในคำฟ้อง จึงเห็นสมควรไม่กำหนดโทษปรับจำเลยที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์