แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นิยามคำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย ซึ่งการกระทำความผิดฐานผลิตมีอัตราโทษมากกว่าการมีไว้ในครอบครอง ย่อมต้องมีลักษณะการกระทำที่รุนแรงกว่า การต้มใบพืชกระท่อมของจำเลยเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการเสพ โดยการเปลี่ยนจากการเสพใบสด ๆ มาเป็นการต้มเป็นน้ำเพื่อสะดวกแก่การนำเข้าสู่ร่างกาย ประกอบกับมีปริมาณเล็กน้อย ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำน้ำต้มพืชกระท่อมของกลางไปผสมกับยาแก้ไอหรือน้ำอัดลมเพื่อให้เกิดการมึนเมา ประสาทหลอน และเป็นอันตรายต่อบุคคลในสังคม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามฟ้อง คงมีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบใบพืชกระท่อมสดที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ หม้อ 1 ใบ ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคสอง ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 1,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้โดยกำหนดเงื่อนไข ดังนี้
1. ให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและผู้พิพากษาสมทบกับนักจิตวิทยาประจำศูนย์ให้คำปรึกษาและบำบัดฟื้นฟูประจำศาล มีกำหนด 3 ครั้งภายในระยะเวลา 1 ปี ทุกครั้งที่จำเลยมารายงานตัว ให้ตรวจปัสสาวะจำเลยหากพบสารเสพติดให้โทษให้รายงานศาล
2. ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทุกประเภท
3. ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดีและห้ามเที่ยวเตร่ในยามกลางคืนหรือในสถานเริงรมย์ทุกแห่ง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง
4. ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 12 ชั่วโมง
หากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 8 วัน ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553มาตรา 145 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืนแต่ให้คืนหม้อ 1 ใบ ของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นิยามของคำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพเปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยขณะกำลังต้มใบพืชกระท่อมในหม้อ 1 ใบ จนได้น้ำพืชกระท่อมจำนวน 1 ขวด ปริมาตร 1,200 มิลลิเมตรจำเลยรับสารภาพว่า ต้มไว้เพื่อดื่มเอง ไม่ปรากฏว่ามีน้ำพืชกระท่อมบรรจุขวดอื่น ๆ อีกหรือมีเป็นปริมาณมากจนอาจนำไปสู่การจำหน่าย น่าเชื่อว่ามีไว้เพื่อดื่มเอง ซึ่งเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษและมีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่รุนแรงขึ้น แก้ไขโทษให้มีความเหมาะสมกับการกระทำความผิดซึ่งการกระทำความผิดฐานผลิตมีอัตราโทษมากกว่าการมีไว้ในครอบครองย่อมต้องมีลักษณะการกระทำที่รุนแรงกว่า การต้มใบพืชกระท่อมของจำเลยจึงเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการเสพโดยการเปลี่ยนจากการเสพใบสด ๆ มาเป็นการต้มเป็นน้ำเพื่อความสะดวกแก่การนำเข้าสู่ร่างกายประกอบกับมีปริมาณเป็นจำนวนเล็กน้อย ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการนำน้ำต้มพืชกระท่อมของกลางไปผสมกับยาแก้ไอ หรือน้ำอัดลม เพื่อให้เกิดการมึนเมา ประสาทหลอนและเป็นอันตรายต่อบุคคลในสังคมตามที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า สมควรริบหม้อที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ต้มน้ำพืชกระท่อมหรือไม่ เห็นว่าเมื่อยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จึงถือไม่ได้ว่าหม้อของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาไม่ริบและให้คืนหม้อของกลางแก่เจ้าของ จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน